complexplaza

18.11.08

กฎหมายหย่าร้าง (1)

กฎหมายการแต่งจะง่ายกว่ากฎหมายการหย่า เพราะเมื่อคุณจดทะเบียนสมรสสำหรับรัฐไม่ค่อยมีส่วนเสียมีแต่ส่วนได้ คือโดยทั่วไปสังคมจะส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตครอบครัว (Family unity) ฉะนั้นการแต่งงานร่วมชีวิตคู่ถือเป็นสิ่งดี ส่วนการหย่าถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐมีแต่ส่วนเสีย เพราะการหย่าถือว่ากระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของพลเมืองในรัฐ ตัวอย่าง เมื่อคุณหย่ากัน ประเด็นใหญ่คือเรื่อง เงิน กับลูก ถ้าคุณตกยาก คู่สมรสไม่เลี้ยงดูคุณ หรือไม่เลี้ยงดูลูก ก็ตกเป็นภาระของรัฐ คุณก็ต้องกินเวลแฟร์ เจ็บป่วยขึ้นมารัฐก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาล

ฉะนั้นการหย่าจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละรัฐจะมีกฎของรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องอาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆระยะหนึ่งถึงจะยื่นเรื่องหย่าในรัฐนั้นๆได้ เรียก Residency Requirement และระยะการคอย เรียก Waiting Period กว่าการหย่าจะสิ้นสุดหรือ Fianl ก็ต่างกันในแต่ละรัฐ อาจเร็วตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 6 เดือน คุณสามารถหย่ารัฐที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ เช่นสามีอยู่คาลิฟอร์เนีย ภรรยาอยู่โอริกอน คุณสามารถหย่ารัฐคาลิฟอร์เนียหรือโอริกอนได้

กฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่าเป็นกฎหมายรัฐ ฉะนั้นแต่ละรัฐจะมีกฎระเบียบต่างกัน ส่วนกฎหมายอิมมิเกรชั่นเป็นกฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นจะเหมือนกันหมดทั่วอเมริกา

ระเบียบการหย่า
กฎหมายหย่าร้างในอเมริกาต่างกับเมืองไทยคือ ในเมืองไทยถ้าสามีภรรยาเต็มใจหย่าทั้งคู่ก็เดินขึ้นอำเภอหรือสำนักงานเขต เซ็นใบหย่า เสร็จเรื่อง แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมถึงต้องขึ้นศาล ส่วนในอเมริกา กฎหมายต่างกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ไม่ต้องรอขออนุญาตหรือบอกอีกฝ่าย หรือถึงแม้อีกฝ่ายไม่ยินยอม ระเบียบการหย่าหรือ “ดีวอร์ซโพรซี้ดเจ้อร์” (Divorce procedure) ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นระเบียบของรัฐคาลิฟอร์เนีย

คุณหรือฝ่ายฟ้องหย่ายื่นเรื่องฟ้องหย่าเข้าไปในศาล และส่งหมายฟ้องไปให้อีกฝ่าย หลังจากฝ่ายที่ถูกฟ้องหย่าได้รับโนติสหมายศาล เขามีเวลาตอบภายใน 30 วัน อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องตอบ ถ้าเขาไม่ตอบคือไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อครบ 30 วัน “พรอเซส” (process) ในศาลก็จะดำเนินไป การหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยายแบบนี้ คุณก็จะได้ใบหย่าจากศาล เรียก Uncontested Divorce

ถ้าคุณอยู่รัฐคาลิฟอร์เนีย ใช้เวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลรับเรื่อง เมื่อถึงเวลา การหย่าก็จะสิ้นสุดลงโดยปริยาย โดยทั้งสองฝ่ายไม่ต้องไปปรากฏตัวในศาลเลย แต่ละรัฐเรียกใบหย่าไม่เหมือนกัน รัฐคาลิฟอร์เนียเรียก Judgment บางรัฐเรียก Divorce Decree เป็นต้น คุณต้องดูใบนี้ว่าการหย่าคุณสิ้นสุดวันไหน หลังจากนั้นถ้าคุณต้องการแต่งงานใหม่ คุณจดทะเบียนใหม่ได้เลย

ในกรณีที่มีประเด็นทรัพย์สิน บุตรและค่าเลี้ยงดู ก็จะมีข้อเขียนเป็นสัญญายื่นเข้าไปในศาลด้วย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน และบุตรอยู่กับใคร ซึ่งสองประเด็นนี้อาจยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมขึ้นอยู่กับคู่หย่าที่จะตกลงกัน แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูบุตร ฝ่ายที่บุตรไม่ได้อยู่ด้วยอาจเป็นพ่อหรือแม่ ฝ่ายนั้นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามตารางอัตราขั้นต่ำที่รัฐกำหนดมากกว่านั้นได้แต่ห้ามน้อยกว่านั้น

พ่อแม่ไม่สามารถสละสิทธิไม่รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่าย เพราะถือว่าเงินนั้นเป็นเงินของบุตร ไม่ใช่เงินของคุณ ถ้าทั้งสองตกลงกันได้ก็เซ็นข้อสัญญา โดยไม่ต้องไปปรากฏตัวในศาล ข้อสัญญานั้นจะผูกมัดทั้งสองฝ่าย และการหย่าก็เป็นไปตามปกติ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ คราวนี้คุณต้องไปศาล

ไม่เซ็นหย่าได้หรือไม่
ถ้าคุณอยู่รัฐที่เป็น No Fault State เช่นรัฐคาลิฟอร์เนีย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ โดยไม่ต้องเซ็นหย่า หรือถ้าอยู่ในรัฐที่ต้องเซ็นหย่า ก็ควรจะเซ็นหย่า ตามที่มีอีเมล์ถามมาว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่าหรือไม่ยอมเซ็นหย่าได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ค่ะ และถ้าอีกฝ่ายไม่เซ็นหย่าการหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยาย ฉะนั้นถ้าคุณแต่งงานสั้นและไมมีประเด็นทรัพย์สิน หรือบุตรเข้ามาเกี่ยว คุณนั่งอยู่เฉยๆไม่ต้องทำอะไร การหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยาย กรณีที่สามีซิติเซ่นฟ้องหย่าก่อนที่จะทำใบเขียวให้ หรือระหว่างทำ ถึงแม้คุณจะไม่มีความผิดอะไร หรือเขาไปมีแฟนใหม่ ถึงคุณไม่เซ็นหย่า เขาก็หย่าได้อยู่ดี ตามกฎหมายในอเมริกาการแต่งงานเปรียบเทียบเหมือนการเซ็นสัญญาระหว่างผู้ใหญ่สองคนที่จะมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่อยากอยู่ด้วย เขาก็มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญานั้นได้ ฉะนั้นไม่หย่าไม่ได้ค่ะ ถ้าจะทะเลาะกันเรื่องทรัพย์สินหรือบุตรก็อีกเรื่อง ก็ยังต้องหย่าอยู่ดี

ผลของการหย่ากับการทำใบเขียว
กรณีวีซ่าขาดแล้วตอนยื่นเรื่องทำใบเขียว
ถ้าคุณหย่าก่อนยื่นเรื่องใบเขียว คุณก็ไม่ได้ทำใบเขียว ถ้าคุณหย่าระหว่างทำใบเขียวก็ลำบากหน่อยสำหรับคุณที่เป็นโรบินฮู้ดเรียบร้อยแล้ว

ในกรณีที่วีซ่าคุณขาดแล้ว ตอนคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวแต่งงาน และคู่สมรสไม่ร่วมมือ หรือเลิกกันระหว่างดำเนินเรื่อง คุณแทบจะไม่มีทางออกเลยนอกจาก พยายามหาแฟนใหม่และยื่นเรื่องขอใบเขียวใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะถ้าเรื่องคุณถูกยกเลิก หรือคุณไม่ไปปรากฎตัววันสัมภาษณ์ ทางอิมมิเกรชั่นจะ ส่งโนติสให้เวลาคุณเดินทางออกนอกประเทศ และหลังจากนั้นเขาจะดำเนินเรื่องขับไล่คุณ เรียก Removal proceeding ถ้าคุณเจอปัญหาถูกขับไล่ และในอนาคตคุณแต่งงานใหม่กับซิติเซ่น คุณจะต้องทำเรื่องขอผ่อนผันก่อนที่คุณจะทำเรื่องขอใบเขียว

ถ้าคุณหรือคู่สมรสได้ยื่นเรื่องหย่าแล้ว แต่การหย่ายังไม่สิ้นสุด คุณอาจพยายามอู้เวลา รอจนได้วันนัดสัมภาษณ์ และอาจยื่นขอเลื่อนวันสัมภาษณ์ กรณีนี้เท่ากับคุณ”ซื้อ”เวลาต่อได้อีก 1-2 เดือน (ระหว่างรีบหาแฟนใหม่)

ขอแนะนำว่าถ้าฝ่ายซิติเซ่นต้องการหย่าจริงๆและไม่มีทางที่คุณจะเอาเขาอยู่ คุณก็ควรรีบหย่าไปให้สิ้นสุดเร็วที่สุด เพื่อคุณจะได้เป็นไทแก่ตัว และฟรีที่จะไปมีแฟนใหม่ ถ้าเจอแฟนใหม่และเขาไม่ขอแต่งงานสักทีก็ขอเขาแต่งงาน บอกตามตรงว่าคุณชอบเขาแต่ไม่มีเวลาดูใจกันนานเพราะคุณเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศและคุณต้องการใบเขียว เพราะตอนนี้คุณเริ่มแข่งกับเวลา ในระหว่างที่เคสเก่ายังค้างอยู่และคุณได้แต่งงานใหม่ คุณสามารถยื่นเคสใหม่ได้ แนะนำให้ทนายทำ เพราะเคสที่สองนี้คุณจะถูกเพ่งเล็ง

กรณีวีซ่ายังไม่ขาดตอนยื่นเรื่อง
ถ้ากรณีที่วีซ่าคุณยังไม่ขาด หรือขาดแล้วไม่เกิน 6 เดือน ณ. วันที่คุณยื่นเรื่องขอใบเขียว (ถึงแม้วีซ่าจะขาดแล้วระหว่างคอยเรื่องก็ตาม) ถ้าชีวิตคู่ไปไม่รอดและคุณหย่าก่อนได้ใบเขียว คุณอาจตัดสินใจรับอาสาเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อรักษาประวัติ และไปตั้งต้นชีวิตใหม่ เพราะถ้าสักวันหนึ่งคุณเจอเนื้อคู่ใหม่ เขาสามารถทำเรื่องขอใบเขียวให้คุณมาจากเมืองไทยได้ โดยคุณไม่เจอปัญหา unlawful presence

ถ้าหย่าหลังคุณได้ใบเขียวสองปีแล้ว และชีวิตคู่ไปไม่รอด อันนี้คุณมีภาษีดีกว่ากรณีข้างต้น เพราะคุณสามารถยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปีด้วยตนเองได้ คุณแสดงหลักฐานว่าคุณแต่งงานและอยู่ด้วยกันจริงฉันสามีภรรยา แต่เนื่องจากมีปัญหาชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้ กรณีนี้คุณต้องยื่นเรื่องหย่าแล้วและการหย่าต้องสิ้นสุดก่อนที่เรื่องคุณจะผ่าน

source : www.rujirat.com

No comments: