complexplaza

18.11.08

โครงการล็อตโต้ใบเขียว

โครงการจับล็อตโต้เพื่อแจก "ใบเขียว" ให้กับชาวต่างชาติสำหรับโค้วต้าปี 2012 ได้เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม เรื่อยไปจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2010 เวลาเที่ยงคืน (EST, GMT -4) เป็นเวลาที่อเมริกานะคะ !! เอ!!! รู้สึกว่าปีนี้จะร่นระยะเวลาเข้ามาเดือนนึงนะ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมา จะเปิดรับสมัคร 2 เดือน ฉะนั้น..รีบสมัครกันหน่อยนะคะ เดี๋ยวจะไม่ทันการ

โครงการแจกใบเขียวให้กับชาวต่างชาติ เพื่อเดินทางมาเป็นพลเมืองอเมริกันโดยถูกต้องตามกฎหมายสำหรับโค้วต้าปี 2012 ซึ่งจะยินยอมให้ชาวต่างชาติเข้ามารับใบเขียวที่จะคัดเลือกจากผู้สมัครเป็นจำนวน 55,000 คน ทั่วโลก ยกเว้น พลเมือง ที่มีสัญชาติแคนนาดา, บราซิล, จีน (เกิดในแผ่นดินใหญ่) โคลัมเบีย โดมินิกัน รีพับลิก อีคัลดอร์ แอลซาลวาดอ กัวเตมาลา ไฮติ อินเดีย จาไมก้า เม็กซิโก ปากีสถาน ฟิลลิปปินส์ เปรู โปแลนด์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และเวียตนาม - -ไม่เข้าข่ายในโครงการแจกล็อตโต้ เนื่องจากมีพลเมืองในประเทศเหล่านี้ได้รับใบเขียวเข้า มาอยู่ในสหรัฐฯ มากกว่า 50,000 คน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

ส่วนประชาชนจีนที่เกิดในเกาะไต้หวัน มาเก๊าและฮ่องกง ยังมีสิทธิที่จะสมัครขอคัดเลือกจากโครงการล็อตโต้ใบเขียว ยกเว้นคนจีนที่เกิดในประเทศจีน

สมัครได้ที่ http://www.dvlottery.state.gov/ โดยการกรอกใบสมัครทางอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ไม่รับใบสมัครทางไปรษณีย์ จนถึงวันสุดท้ายที่ 3 พฤศจิกายน 2010 เวลาเที่ยงคืน (EST, GMT -4)

นอกจากนี้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะส่งใบสมัครมาร่วมโครงการล็อตโต้ใบเขียวนี้ ให้ ระมัดระวังเว๊บไซท์ที่จัดทำให้ดูคล้ายกับเว๊บไซท์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และเรียกเก็บค่าสมัคร ซึ่งปกติแล้วไม่เสียค่าสมัครแต่อย่างใด

ข้อมูลที่จะกรอกในแบบฟอร์ม ได้แก่
1. ชื่อ - นามสกุล (คนไทยไม่มีชื่อกลาง)
2. วันเกิด
3. เพศ หญิง / ชาย
4. จังหวัดที่เกิด
5. ประเทศที่เกิด
6. ประเทศนั้นมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการหรือไม่ (ถ้าคุณเกิดในประเทศไทย ตอบ yes)
7. โพสต์รูปถ่าย (ขนาด 600 x 600 pixel) หน้าตรง ถ่ายเห็นไหล่ พื้นหลังสีขาวเรียบ และถ่ายไม่เกิน 6 เดือน สามารถใช้รูปถ่ายที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอล หรือเครื่องสแกนได้ , เช็ครูปถ่ายก่อนโพสต์ได้ที่ http://www.dvlottery.state.gov/photo.aspx
8. ที่อยู่ที่สำหรับส่งเอกสาร (กรณีที่คุณเป็นผู้โชคดี จะได้รับแจ้งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่นี้)
9. ประเทศที่อยู่ในปัจจุบัน
10. หมายเลขโทรศัพท์ (กรอกหรือไม่ก็ได้)
11. อีเมล
12. ระดับการศึกษาสูงสุด
13. สถานภาพสมรส
14. จำนวนบุตร (ถ้าไม่มี เว้นไว้ก็ได้)

ถ้ามีบุตร หน้าต่อไปจะเป็นข้อมูลของบุตร และคู่สมรส

เมื่อกรอกข้อมูลแล้ว คลิกที่ continue ระบบจะแสดงข้อมูลที่คุณกรอก ถ้าคุณต้องการแก้ไข ห้าม กด backข้างบนหน้าจอเพื่อกลับไปหน้าเดิม แต่ให้ใช้คำสั่งข้างล่าง ตรงแบบฟอร์มเพื่อแก้ไข, ถ้าข้อมูลถูกต้อง ให้ทำตามขั้นตอน จนกระทั่งเห็นใบตอบรับว่าระบบได้รับข้อมูลของคุณแล้ว คุณจะได้รับหมายเลขยืนยัน ให้พิมพ์เอกสารหน้านี้เก็บไว้ตรวจสอบตอนประกาศผล

ถ้าพร้อมแล้ว คลิก เพื่อกรอกข้อมูลได้เลยค่ะ

ต้องการตรวจผลผู้โชคดี สำหรับ DV 2011 คลิก

ขอให้คุณเป็นหนึ่งในจำนวนผู้โชคดีนะคะ

IMMEGRATION (2)

อิมมิเกรชั่นรู้ได้อย่างไรว่าคุณอยู่เถื่อน
ถ้าคุณอยู่ในอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย คือวีซ่าขาดแล้ว คุณห้ามเดินทางออกนอกประเทศ จนกระทั่งได้ใบเขียวอยู่ในมือ เวลาเดินทางคุณต้องใช้พาสปอร์ตไทยเดินทาง พาสปอร์ตไทยต้องมีอายุเหลืออย่างน้อยเกิน 6 เดือน ถ้าคุณที่มีพาสปอร์ตขาดแล้วขอให้ติดต่อสถานกงสุลไทยในอเมริกาและทำพาสปอร์ตแต่เนิ่นๆเพราะตอนนี้พาสปอร์ตรุ่นใหม่เป็นอีพาสปอร์ต และต้องส่งกลับไปทำที่เมืองไทยจึงใช้เวลาหลายสัปดาห์ เมื่อคุณถือใบเขียว คุณไม่ต้องมีวีซ่าเข้าอเมริกาอีกต่อไป ใบเขียวคือวีซ่าถาวร ใช้แสดงแทนวีซ่าเมื่อเดินทางเข้าอเมริกา

มีหลายวิธีที่อิมมิเกรชั่นรู้ว่าคุณอยู่เถื่อนและเป็นผลให้คุณอาจถูกตามจับช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการทำผิด ดังนี้

ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว เมื่อคุณเดินทางกลับเจ้าหน้าที่สายการบินจะดึงบัตรขาเข้าออกจากพาสปอร์ตคุณและแจ้งไปที่อิมมิเกรชั่น ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่มีบันทึกนี้ ก็จะสันนิษฐานก่อนเลยว่าคุณอยู่เกิน กรณีนี้ปัญหาน้อยเพราะคนที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอเมริกาปีละหลายล้านคน ไม่ค่อยจะมีเจ้าหน้าที่สนใจมาตามจับเรื่องนี้ นอกจากถ้ามีบางอย่างไปกระตุ้นให้เขาเพ่งเล็งเช่น คุณไปทำเรื่องขออยู่เที่ยวต่อ เรื่องถูกปฏิเสธ ทางอิมมิเกรชั่นจะมีเร็คคอร์ดว่าบัตรขาเข้าของคุณขาด และเพ่งเล็งว่าคุณเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ และอีกกรณีหนึ่งที่คาดไม่ถึง คือครอบครัว ลูก คู่สมรส ในเมืองไทยไปขอวีซ่าท่องเที่ยว ทางสถานทูตเช็คนามสกุลตรงกันรู้ว่า เคยออกวีซ่าท่องเที่ยวให้คุณและคุณเดินทางเข้าอเมริกาแต่ไม่มีเร็คคอร์ดเดินทางออก ทางสถานทูตอาจแจ้งไปทางอิมมิเกรชั่น

ผู้ถือวีซ่านักเรียน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2003 ระบบ SEVIS เข้าที่ คือทางโรงเรียนที่ออก I-20 ให้นักเรียนต่างชาติต้องแจ้งเข้าไปที่อิมมิเกรชั่นถ้าคุณย้ายโรงเรียน ย้ายที่อยู่ ไม่ไปเรียน ไม่ลงทะเบียนเรียนตอนเปิดเทอม เป็นต้น ทางอิมมิเกรชั่นจะสันนิษฐานว่าคุณอยู่เถื่อน

โรบินฮู้ดแต่งงานยื่นเรื่องไม่ผ่าน เมื่อคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวแต่งงานและเรื่องไม่ผ่าน ทางอิมมิเกรชั่นจะให้จดหมายคุณสั่งให้คุณเดินทางออกนอกประเทศ ถ้าคุณไม่ออก โอกาสที่เจ้าหน้าที่ตามจับสูงหรืออีกกรณีที่คุณเคยทำผิดกฎหมายอิมมิเกรชั่นแบบร้ายแรงมาก่อน หรือเคยถูกขับไล่มาก่อน เมื่อคุณยื่นเรื่องขอใบเขียว หลังคุณพิมพ์นิ้วมือ เจ้าหน้าที่จะรู้ว่าคุณมีประวัติเขาจะมาตามจับขณะยื่นเรื่อง (เพียงอยู่เถื่อนวีซ่าขาด จะไม่ถูกจับ)

มีคนไปแจ้ง ถ้ามีคนไปแจ้งอิมมิเกรชั่นว่าคุณอยู่เถื่อนหรือเคยทำผิดกฎอิมมิเกรชั่น ที่เห็นๆส่วนมากก็จะเป็นคนใกล้ชิด เช่น นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน พาร์ทเน่อร์ธุรกิจ คนที่คุณขัดผลประโยชน์เขา คนที่คุณแต่งงานด้วย แฟนเก่า เป็นต้น (โถ! คนไทยด้วยกัน)

กระบวนการทางกฏหมาย
ตามสิทธิรัฐธรรมนูญภายใต้ บิล อ๊อฟ ไรท์ส (Bill of Rights) สิทธิเบื้องต้นใน 10 อเม็นด์เม๊นท์แรก ซึงคุ้มครองทุกคนที่อยู่ในอเมริกาไม่ว่าจะอยู่เถื่อนหรือไม่ ระบุว่าก่อนที่คุณจะถูกจับ คุณจะต้องได้รับโนติสก่อน คือแจ้งข้อกล่าวหา มีเวลาตอบหมายศาล มีทนาย และสามารถสู้คดีได้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อก่อนนี้ เมื่อทางที่อิมมิเกรชั่นพยายามเสริฟโนติสหรือหมายศาลให้โรบินฮู้ด โรบินฮู้ดหนี อยู่ไม่เป็นที่ทาง ไม่สามารถหาตัวเสริฟโนติสโรบินฮู้ดได้ เมื่อโรบินฮู้ดขึ้นสาล ทนายจะสามารถอ้างละเมิดสิทธิเสมอ แต่ตั้งแต่หลังปี 2003 ทางอิมมิเกรชั่นรื้อฟื้นกฎที่ว่าคนต่างชาติทุกคน ที่เข้ามาในประเทศและอยู่เกิน 30 วัน ต้องแจ้งย้ายที่อยู่ไปที่อิมมิเกรชั่นภายใน 10 วันนับจากวันย้ายที่อยู่โดยกรอกฟอร์ม AR 11 ส่งไป ถ้าไม่แจ้งให้ถือว่ามีความผิด และข้อสำคัญคือ ทางอิมมิเกรชั่นจะถือที่อยู่ที่เขามีในเร็คคอร์ดเป็นที่อยู่ล่าสุดของคุณที่ทางอิมมิเกรชั่นใช้ติดต่อคุณ ฉะนั้นถ้าทางอิมมิเกรชั่นเสริฟโนติสคุณตามที่อยู่ล่าสุด และคุณไม่ได้รับโนติสนั้นเพราะหนีไปแล้วหรือ ??? ไม่สำคัญ เพราะถือว่าทางรัฐบาลได้ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว และไม่ได้ละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญของคุณ ฉะนั้นเมื่อเขาตามถึงตัวคุณได้ เขาจะสามารถจับตัวคุณและเนรเทศคุณได้เลย

เมื่ออิมมิเกรชั่นมาเคาะประตูบ้าน
เมื่อเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นนมาจับคุณถึงบ้าน และสิทธิรัฐธรรมนูญของคุณและคนอื่นที่อยู่ในบ้าน เพื่อช่วยไม่ให้คุณพูดมากไป หรือตอบคำถามในสิ่งที่ไม่ควรตอบ หรืออนุญาตให้เขาเข้าบ้านเป็นผลให้คนอื่นถูกจับไปด้วย ดังนี้

Search and Seizure Rights
ตามสิทธิรัฐธรรมนูญอเม็นด์เม๊นท์ข้อ 4 ห้ามเจ้าหน้าที่ค้น อายัด โดยไม่มีหมายค้นหรือข้อสงสัยพอเพียง เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงบ้านคุณ บ้านถือเป็นสถานที่ ที่มีไปรเวซี่สูงสุด เจ้าหน้าที่จะยืนอยู่แค่หน้าประตูบ้าน และถามหาคนที่เขามาจับ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเข้าบ้านคุณได้นอกจากคุณจะอนุญาต เขาอาจขอเข้าไปข้างใน คุณบอกปฎิเสธได้ ไม่ต้องกลัว ถามเขาว่ามีหมายค้น “เซิร์ช วอแรนท์” (search warrant)ไหม เขาอาจตอบว่าไม่มี แต่เขากลับไปเอาได้ บอกเขาให้กลับไปเอา เขาจะเข้าไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่อาจมองเข้าไปในบ้านคุณขณะคุณยืนแง้มประตู และเห็นสิ่งที่น่าสงสัยเช่น เขาถามคุณว่าอยู่กันกี่คน คุณบอกอยู่คนเดียว แต่เขาเห็นที่นอน หมอน เสื้อผ้าวางเต็มห้องรับแขก เป็นต้น เขาถามมากขึ้นๆจนคุณยอมรับ ก็จะเป็นปัญหาอีก หรือคุณอาจจมีชื่อโรบินฮู้ดคนอื่นๆ ที่อยู่ในบ้านคุณแปะติดอยู่ตรงตู้จดหมายนอกอพาร์ทเม๊นท์ เจ้าหน้าที่เห็นชื่อที่ตู้จดหมาย ได้เช็คประวัติเรียบร้อยก่อนมาเคาะประตูบ้าน เก๊าะจะแจ๊กพ็อตอีก

ถ้าคุณอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าบ้านคุณ เขาสามารถเช็คผิวเผินได้และเดินเข้าได้ทุกห้อง และถ้าคุณมีคนอื่นหรือโรบินฮู้ดคนอื่นอาศัยอยู่ในบ้านคุณ เขาสามารถถามข้อมูล ขอเช็คไอดี (I.D. Identification) เช็คสถานภาพได้ และถ้าผู้นั้นอยู่เถื่อน เขาสามารถจับตัวไปได้ ฉะนั้นมาจับคนเดียวแต่ได้หลายคน เป็นต้น

Rights against Self Incrimination
ตามสิทธิรัฐธรรมนูญอเม็นด์เม๊นท์ข้อ 5 คุณมีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามที่จะเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่สามารถถามคำถามทั่วๆไปคุณได้ โดยไม่ต้องเตือนคุณว่าไม่ต้องตอบ ขอให้คุณตอบน้อยที่สุด คือถามคำ ตอบคำ ไม่ต้องรับอาสาตอบ หรืออธิบายมาก แต่ถ้าคุณไม่ต้องการตอบหรือคิดว่าถ้าตอบแล้วจะเป็นภัยต่อตัว คุณมีสิทธิปฏิเสธไม่ตอบได้ คุณบอกเขาว่าคุณต้องการถามทนายก่อนตอบ หรือถ้าคุณไม่เข้าใจคำถาม คุณบอกเขาว่าคุณไม่เข้าใจให้หาคนแปลมา กรณีนี้ระวังหน่อย เพราะเจ้าหน้าที่อาจถามต่อว่ามีใครอยู่ในบ้านที่รู้ภาษาและแปลได้ไหม (ซึ่งถ้ามีและคนนั้นเป็นโรบินฮู้ด ก็แจ๊กพ็อตอีก) ฉะนั้น คุณต้องสำรวจสถานการของคุณเอง แต่ละเวลาแต่ละสถานการณ์จะต่างกัน ขอให้คุณระวังคำพูด

เหตุการณ์ที่หนึ่งเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นมาเคาะประตูอพาร์ทเม๊นท์ คนในบ้านผู้ชายเปิดรับ เจ้าหน้าที่ถามหาผู้หญิงซึ่งเคยอยู่ที่นั่นมาก่อนและได้ย้ายออกไปแล้ว ผู้ชายตอบว่าไม่มีคนชื่อนี้อยู่ เจ้าหน้าที่ขอเช็คพาสปอร์ตและ I-20 ของผู้ชายปรากฎว่าระหว่างเช็ค ได้ยินเสียงรูมเม็ทผู้หญิงอาบน้ำอยู่ข้างในอพาร์ทเม๊นท์ เจ้าหน้าที่จึงถือโอกาสเข้าไปในอพาร์ทเม๊นท์และเคาะประตูห้องน้ำเรียกให้ผู้หญิงออกมา เจ้าหน้าที่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะเขาอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า ผู้หญิงที่เขามาตามตัวอาจเป็นรูมเมทหลบซ่อนอยู่ในห้องน้ำ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ขอเช็คพาสปอร์ต วีซ่าและสถานภาพ ซึ่งในเหตุดารณ์นี้ทั้งสองเป็นนักเรียนอยู่อย่างถูกต้องและวีซ่าไม่ขาด แต่เจ้าหน้าที่ไม่หยุดตรงนั้น ได้ไต่สวนและถามต่อว่า ทั้งสองทำงานหรือเปล่า ทันทีที่ยอมรับว่าทำงาน ซึ่งผิดกฎวีซ่านักเรียน ทั้งสองถูกจับและต้องไปขึ้นศาลภายหลังวิธีปกป้องเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะคนไทยที่เพิ่งมาอยู่อเมริกา ยังไม่มีเครดิตและไม่สามารถเช่าอพาร์ทเม๊นท์ได้ด้วยตนเอง หรือบางทีต้องแชร์กับรูมเมทคนอื่น หลายคนก็อาจเช่าช่วงต่อจากคนไทยคนอื่นที่ย้ายออกไปแล้ว ถ้าอิมมิเกรชั่นมาจับคนที่เคยอยู่ที่บ้าน คนที่อยู่ปัจจุบันก็จะโดนร่างแหไปด้วย

วิธีปกป้อง คือพยายามอย่าเช่าช่วงบ้านหรืออพาร์ทเม๊นท์ต่อจากคนอื่น พยายามเช่าที่อยู่ด้วยตนเอง ถ้าคุณไม่มีเครดิต คุณยังเช่าได้โดยอาจต้องวางมัดจำสองเดือนแทนที่จะเป็น 1 เดือน และบอกเจ้าของบ้านว่าถ้าคุณจ่ายตรงเวลา 6 เดือนแรก คูณขอมัดจำที่วางเกิน 1 เดือนคืน เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ คุณสามารถต่อรองกับเจ้าของอพาร์ทเม๊นท์ตอนเช่าบ้านได้

เหตุการณ์ที่สองลูกเพื่อนจะมาเรียนหนังสือในเมกา ขอยืมใช้ที่อยู่คุณในเมกากรอกตอนยื่นเรื่องขอวีซ่านักเรียน หลังได้วีซ่าเด็กมาเมกาพักบ้านคุณได้ 1 เดือนและย้ายออกไปอยู่ไหนไม่ทราบ ต่อมาอีก 1-2 ปีต่อมา คุณมีน้องมาวีซ่าท่องเที่ยวจากเมืองไทยมาช่วยทำงานในร้านอาหาร น้องปล่อยให้วีซ่าขาดเป็นพ่อครัวอยู่ร้านอาหาร วันหนึ่งเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นมาเคาะประตูตามจับเด็กลูกเพื่อน เพราะเด็กไม่ไปเรียนหนังสือ น้องชายเปิดประตูบาน เลยแจ๊คพ็อท ถูกเจ้าหน้าที่ขอเช็คพาสปอร์ตและวีซ่า ซึ่งขาดเรียบร้อยแล้ว เลยถูกส่งกลับ วิธีปกป้องเหตุการณ์เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบัน ผู้ถือวีซ่านักเรียน ถ้าขาดเรียนเพียงหนึ่งเทอม ทางโรงเรียนจะแจ้งไปที่อิมมิเกรชั่น อิมมิเกรชั่นจะตามจับโดยไปหาตัวตามที่อยู่ล่าสุดที่เขามี ในที่นี้อาจเป็นที่อยู่ที่เด็กกรอกตอนขอวีซ่าหรือที่อยู่ที่เด็กแจ้งในใบสมัครเข้าเรียน ถ้าเด็กไม่เคยแจ้งย้ายที่อยู่ทางอิมมิเกรชั่นจะตามไปตามที่อยู่ที่เขามี ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 ปี 2001 กฎหมายอิมมิเกรชั่นเข้มงวดมากขึ้น โรงเรียนที่ได้อนุมัติให้ออก I-20 ได้ตกอยู่ภายใต้ระบบ SEVIS คือมีหน้าที่ต้องแจ้งอิมมิเกรชั่นทุกครั้งที่ผู้เด็กมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ย้ายโรงเรียน ย้ายที่อยู่ เด็กทำงาน หรือไม่มาเรียนหนังสือ เป็นต้น คุณสามารถปกป้องได้คือ ในกรณีนี้ตอนลูกเพื่อนย้ายออกจากบ้านคุณ คุณต้องให้เขากรอกฟอร์ม AR-11 แจ้งย้ายที่อยู่ไปที่อิมมิเกรชั่น ตามกฎคนต่างชาติทุกคนที่ไม่ได้เป็นซิติเซ่นต้องแจ้งย้ายที่อยู่ไปที่อิมมิเกรชั่นภายใน 10 วัน คุณสามารถดึงฟอร์ม AR-11 จาก http://www.uscis.gov/ และในอนาคตอย่าให้คนอื่นยืมที่อยู่คุณไปใช้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

source : www.rujirat.com

IMMEGRATION !!

พูดถึงสถิติที่อิมมิเกรชั่นตามจับโรบินฮู้ดตามที่ทำงานเพิ่มมากขึ้น11% กว่าปีที่แล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2003 รัฐบาลได้แยกอิมมิเกรชั่นออกเป็นสามแผนก คือ
(1) แผนกเอกสารเรียกย่อๆ ว่า USCIS ย่อมาจาก United States of Citizenship and Immigration Services
(2) แผนกศุลกากรและตรวจชายแดน เรียก CBP ย่อมาจาก Customs and Border Patrol ทำหน้าที่คล้ายเจ้าหน้าที่ศุลการักษ์และเจ้าหน้าที่ตรวจชายแดน
(3)แผนกปฏิบัติหรือ “เอ็นฟอร์ซเม๊นท์” คือแผนกจับคนทำผิดฎหมายอิมมิเกรชั่น เรียกย่อว่า ICE ย่อมาจาก Immigration and Custom Enforcement เวลาไอ๊ซ์บุกจับจะใช้คำว่า “ไอ๊ซ์ เหรด” (ICE raids คำว่า “เหรด” แปลตรงตัวว่า “บุก”)

ทางรัฐบาลได้เพิ่มงบและจ้างเจ้าหน้าที่แผนกจับนี้มากขึ้น เพราะตั้งแต่คองเกรสถกกันเรื่องจะออกกฎหมายใหม่ “เกสท์ เวิ็ร์คเค่อร์” โดยออกวีซ่าให้โรบินฮู้ดทำงานอย่างถูกต้อง แต่ก่อนที่จะผ่านกฎหมายฉบับนี้ มีสิ่งแลกเปลี่ยนคือ ทางสภาต้องการเห็นรัฐบาลเอาจริงกับพวกโรบินฮู้ดที่อยู่เถื่อนและลักลอบทำงานเถื่อน ฉะนั้นไอ๊ซ์จึงทำงานหนักและโชว์ผลงาน

ผู้ถือใบเขียวถูกเนรเทศข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 18 November 2007 มีดังนี้ คือนายเปรโดอายุ 54 ปี ชาวฟิลิปปินส์ปัจจุบันเป็นหมออยู่รัฐเพนซิลเวเนีย ภรรยาชื่อนางซัลวาซิออน ชาวฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของร้านโกรเซอรี่ ทั้งสองถือใบเขียวและอยู่ในอเมริกากว่า 20 ปี ทั้งสองกำลังถูกอิมมิเกรชั่นดำเนินเรื่องเนรเทศ เรื่องราวดังนี้คือ ในปี 1978 ขณะที่ทั้งสองยังโสด แม่ของผู้ชายแอ็พพลายใบเขียวให้นายเปรโด และแม่ผู้หญิงแอ็พพลายใบเขียวให้นาง(สาว)ซัลวาซิออน ในกรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์ลูกไม่สมรส ก่อนได้ใบเขียวทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันปี 1980 หลังจากนั้นปี 1982 นางซัลวาซิออนได้ใบเขียว วันไปสัมภาษณ์เธอแจ้งกงสุลว่าตนยังโสด เธอบินเข้ามาอยู่อเมริกาปี 1982 ส่วนนายเปโดรวันไปสัมภาษณ์แจ้งสถานทูตว่าตนยังไม่ได้สมรสเช่นกัน และได้ใบเขียวปี 1984 นายเปรโดและนางซัลวาซิออนได้ยื่นเรื่องทำซิติเซ่นปี 1990 เรื่องไม่ผ่าน เพราะอิมมิเกรชั่นได้พบว่าตอนที่ทั้งสองได้ใบเขียว ทั้งสองคนได้จดทะเบียนสมรสแล้ว และไม่ได้แจ้งให้สถานทูตรู้ว่าตนแต่งงานแล้ว อิมมิเกรชั่นจึงดำเนินเรื่องเนรเทศทั้งสอง และทั้งสองได้ต่อสู้มาจนปัจจุบัน ซึ่งวันศุกร์ที่ 23 พ.ย. หลัง Thanksgiving นี้ทั้งสองมีนัดไปอิมมิเกรชั่น เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางครั้งเรื่องที่คุณโกหกไว้นานจนคุณเองก็ลืม มันสามารถกลับมาหลอนคุณได้ในอนาคต

ดรีมแอ็กท์ ฝันสลาย อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวคือ นายฮูลิโอ โกเมซ ชาวโคลัมเบียนพาครอบครัว ภรรยา และลูกเล็กๆ อายุ 1 และ 3 ขวบ เข้ามาอเมริกาเมื่อปี1990 ภายหลังได้ยื่นเรื่องไปที่อิมมิเกรชั่นขอใบเขียวลี้ภัยการเมือง แต่เรื่องไม่ผ่าน หลังจากนั้นทางอิมมิเกรชั่นดำเนินเรื่องเนรเทศทั้งครอบครัวและสั่งให้ออกนอกประเทศภายในปี 2003 แต่ทั้งครอบครัวไม่กลับและได้ย้ายที่อยู่ไปอยู่รัฐฟลอริด้า ปัจจุบันลูกชายอายุ 18 และ 20 ปีคนหนึ่งอยู่ไฮสกูล อีกคนพึ่งจบไฮสกูลได้เกียรตินิยมและกำลังเข้าคอลเลจได้ เมื่อเดือนที่แล้ว “ไอซ์”ไปจับทั้งครอบครัวถึงบ้าน ขณะครอบครัวถูกจับและถูกใส่กุญแจมือ ลูกชายคนโตได้ “เท็กซท์ แมซเส็จ” (Text message) ไปถึงเพื่อนบอกเพื่อนว่าตนกำลังถูกอิมมิเกรชั่นจับ เมื่อเพื่อนๆได้เท็กซ์ ก็ได้ตั้งแคมเปญร้องเรียนไปที่คองเกรสและลงเรื่องของครอบครัวนี้บนเว๊บ Facebook.com เรื่องก็เลยดังขึ้นมา เป็นข่าวใหญ่ออกรายการ CNN ครอบครัวได้รับความเห็นใจมากมายจากสาธารณชน อิมมิเกรชั่นได้รับความกดดันจากสาธารณชนและคองเกรสมาก เลยยอมเลื่อนเวลาให้เด็กสองคนอยู่ในอเมริกา รอเรื่องเนรเทศอยู่ก่อนถึงปี 2009 ซึ่งคาดว่าจะมีการโหวดร่างกฎหมาย “ดรีม แอ็กท์” (DREAM Act) ถ้ากฎหมายนี้ผ่านเด็กสองคนเข้าข่าย ดรีมแอ็กท์ เด็กจะได้วีซ่าอยู่เรียนต่อและได้ใบเขียวภายหลัง ส่วนพ่อแม่เด็ก นายและนางโกเมซ ถูกอิมมิเกรชั่นจับตัวส่งกลับโคลัมเบียเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ย. นี้

source : www.rujirat.com

ว่าด้วยเรื่อง "หย่า"

หย่าแล้วแต่งงานได้เมื่อไร
เมื่อการหย่าสิ้นสุดลงปุ๊บ คุณแต่งใหม่ได้เลย (พูดถึงหย่าในอเมริกาตามกฎหมายท้องถิ่น ไม่ใช่หย่าที่กงสุลไทยในอเมริกา) คุณต้องให้แน่ใจว่าการหย่าของคุณ Fianl หรือสิ้นสุดลงแล้ว

หย่ากงสุล
หย่ากงสุลมักเป็นปัญหากับกฎหมายอิมมิเกรชั่นในการทำใบเขียวแต่งงาน แต่ตามจริงแล้วหย่ากงสุลถือว่าถูกต้องตามกฎหมายไทยและกฎหมายในอเมริกา ถ้าคู่สมรสคนหนึ่งเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย แต่ทางอิมมิเกรชั่นหรือทางสถานทูตอเมริกันในเมืองไทย (กรณียื่นทำใบเขียวแต่งงานในเมืองไทย) มักจะไม่ชอบและเพ่งเล็งว่าเป็นการหย่าที่คุณจะพยายามลัดระบบให้เร็วที่สุดเพื่อทำใบเขียวหรือเปล่า หย่าแบบนี้เรียก Quicky Divorce

ตามคดีก่อนๆหรือ Case law อิมมิเกรชั่นได้ตัดสินไว้ว่า อิมมิเกรชั่นยอมรับการหย่าจากรัฐอื่น หรือหย่ากงสุล ถ้าตราบใดที่รัฐหรือเมือง/เขตที่คุณจดทะเบียนแต่งงานใหม่ยอมรับการหย่านั้นๆ ว่าถูกกฎหมาย

คำถามว่าหย่าปุ๊บแต่งงานทันทีน่าเกลียดไหม ถ้าเป็นหย่ากงสุล ก็น่าเกลียด ไม่แนะนำให้ทำ

อยู่ด้วยกันแต่ไม่จดทะเบียนต้องหย่าหรือไม่
การอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่จดทะเบียนสมรสเรียก Commonlaw marriage

ในอเมริกามีบางรัฐที่รับ Commonlaw marriage ว่าถูกต้องตามกฎหมายคือ Alabama, Colorado, District of Columbia, Iowa, Kansas, Montana, Oklahoma, Rhode Island, South Carolina, Texas, Utah, Georgia, Idaho, Ohio, Pennsylvania ฉะนั้นถ้าคุณเคยอยู่กินกับแฟนในรัฐเหล่านี้ คุณอาจจะถือว่าแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ถ้าอีกฝ่ายยื้อยุดกับคุณและอาจสร้างปัญหาให้คุณในอนาคต ขอแนะนำให้คุณทำเรื่องหย่าขาดจากกันก่อนแต่งงานใหม่และทำใบเขียว จะได้ไม่พบปัญหาภายหลัง

หย่าเวกัส
หลายคนที่อยู่รัฐคาลิฟอร์เนียแต่ขี้เกียจคอยนาน เพราะกฎหมายหย่ารัฐคาลิฟอร์เนีย ใช้เวลาคอยนาน 6 เดือนกว่าจะหย่าเสร็จ และ residency requirement ต้อง 6 เดือน หลายคนจะข้ามไปหย่าที่ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า เพราะรัฐเนวาด้า residency requirement เพียง 6 สัปดาห์ (โดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน เพียงระบุว่าอยู่ในรัฐ มีที่อยู่ให้ก็มักจะพอ) และระยะคอย waiting period เพียง 1-2 สัปดาห์ หลายคนจ้างทนายในคาลิฟอร์เนียทำหย่าเวกัสโดยไม่เคยไปอยู่รัฐเนวาด้ามาก่อน อันนี้ทำไม่ถูก และอิมมิเกรชั่นมักเพ่งเล็งการหย่าแบบเร็วๆ แต่ถ้าคุณโชว์ได้ว่าคุณอยู่เวกัสมาก่อนและภายหลังย้ายกลับมาอยู่คาลิฟอร์เนียก็ถือว่าถูกต้อง

หย่าเมื่อคู่สมรสอยู่เมืองไทย
หลายคนที่จดทะเบียนในเมืองไทย เมื่อมาอเมริกาก่อนแต่งงานใหม่ ทำใบเขียว คุณต้องทำเรื่องหย่าก่อนให้สิ้นสุดก่อน เพราะการจดทะเบียนในเมืองไทยถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย คุณสามารถยื่นเรื่องหย่าไปที่เมืองไทยได้ โดยให้ทนายไทยที่เมืองไทยทำเรื่องให้ผ่านศาล โดยคุณไม่ต้องเดินทางกลับไปเมืองไทย หรือขอให้คู่สมรสในไทยทำเรื่องหย่าส่งมาให้คุณ ถ้ายินยอมตกลงกันด้วยดีทั้งสองฝ่าย คุณควรหย่าสิ้นสุดประมาณ 4 เดือน

source : www.rujirat.com

กฎหมายหย่าร้าง (2)

หย่าได้เมื่อไร
ตามกฎหมายอิมมิเกรชั่นภายใต้กฎหมายปกป้องการแต่งงานปลอม ถ้าคุณได้ใบเขียวจากการแต่งงานกับซิติเซ่นในสองปีแรก คุณจะได้ใบเขียวชั่วคราวเพียงสองปีหรือเรียกใบเขียวเงื่อนไข (conditional green card)และ 90 วันก่อนครบสองปี คุณและคู่สมรสต้องยื่นเรื่องด้วยกันพร้อมเอกสารแสดงว่าคุณยังอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา เมื่อเรื่องผ่านคุณจะได้ใบเขียวถาวร

ถ้าคุณและคู่สมรสมีปัญหาเลิกกันเพราะเข้ากันไม่ได้หรือ เลิกรักกันในตอนนี้ เรื่องก็ต้องถูกยกเลิกไป คุณไม่สามารถดำเนินเรื่องต่อด้วยตนเองได้ ยกเว้น ในกรณีถ้าคุณถูกคู่สมรส “อบิ๊วส์” (abuse) คือถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ คุณถึงจะสามารถดำเนินเรื่องต่อด้วยตนเองได้ ฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆอย่างพึ่งหย่า แต่ถ้าฝ่ายซิติเซ่นต้องการหย่าจริงๆ โดยไม่ใช่ความผิดของคุณ ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย เมื่อหย่าแล้วคุณต้องยื่นเรื่องขอยกเลิกเงื่อนไขด้วยตนเองและพิสูจน์ว่าคุณแต่งงานกันจริง มันไม่ใช่ความผิดของคุณที่หย่า หรือ/และถ้าคุณต้องถูกเนรเทศคุณจะลำบากอย่างไร

คอยสองปีกว่า
ถ้าคุณทนอยู่กับคู่สมรสได้ คุณต้องอยู่ไปอีกประมาณเกือบ 3 ปีหลังได้ใบเขียวเงื่อนไข เพราะคุณต้องยื่นเรื่องขอยกเลิกเงื่อนไข 90 วันก่อนครบสองปี และหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือนถ้าเรื่องผ่านเรียบร้อยคุณจะได้ใบเขียวถาวรทางไปรษณีย์ ระหว่างคอยคุณยังหย่าไม่ได้ แต่ถ้าการครองรักกระท่อนกระแท่น คุณแยกกันอยู่ได้ ถ้าคุณทนต่อได้อีก 1 ปี คุณสามารถทำซิติเซ่นได้ 3 ปีนับจากวันที่ได้ใบเขียวแรก โดยยื่นเรื่องได้ 90 วันก่อนครบ 3 ปี ตอนนี้ทำซิติเซ่นเร็วมาก 4 เดือนเสร็จ คุ้มนะคะที่จะทนคอย ระหว่างคอยคุณอาจจะเริ่มเห็นใจและเห็นความดีของคู่สมรสและอยู่กันต่อไปโดยไม่ต้องทนก็ได้

หย่าหลังได้ใบเขียวแต่งงาน
ถ้าคุณหย่าก่อนได้ใบเขียวสิบปี ใบเขียวแรกของคุณหมดอายุและคุณจะกลายเป็นโรบินฮู้ด นอกจากคุณจะยื่นเรื่องด้วยตนเอง ขอผ่อนผัน ถ้าผ่านคุณจะได้ใบเขียวสิบปี ถ้าไม่ผ่านคุณจะกลายเป็นโรบินฮู้ด ถ้าคุณพยายามอยู่กินกับคู่สมรสเพื่อรอทำใบเขียวสิบปี จนกระทั่งเมื่อได้ใบเขียวสิบปี ถ้าคุณหย่าทันทีคุณสามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิของคุณ

การที่คุณจะแต่งหรือหย่า จะไปเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อคุณต้องการขอ “เบเนฟิต” อื่นๆจากอิมมิเกรชั่น ดังนี้ตอนโอนสัญชาติ ถ้าคุณหย่ากับคู่สมรสซิติเซ่น และเมื่อครบ 5 ปี คุณยื่นเรื่องโอนสัญชาติ คุณจะถูกเพ่งเล็งและถูกเคี่ยววันสัมภาษณ์

คุณต้องเก็บและเตรียมหลักฐานแสดงว่าตอนคุณแต่งงานทำใบเขียวนั้น คุณมี ความตั้งใจอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ตามศัพท์อิมมิเกรชั่นเรียก bona fides marriageโดยแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าคุณและคู่สมรสอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาในช่วงแต่งงานจนกระทั่งยื่นเรื่องหย่า แต่เนื่องจากชีวิตแต่งงานไม่ “เวิ้ร์ค” (work) คุณถึงต้องหย่าตอนแต่งใหม่


หย่าหลังได้ใบเขียวถาวร
ทันทีที่คุณได้ใบเขียวถาวร และคุณตัดสินใจหย่า คุณยื่นเรื่องหย่าได้ทันที โดยคุณไม่สูญใบเขียว ผลกับการหย่าตอนนี้คือคุณต้องคอย 5 ปี แทนที่จะเป็นสามปีนับจากวันที่ได้ใบเขียวแรก ถึงจะยื่นเรื่องทำซิติเซ่นได้ และตอนทำซิติเซ่น คุณจะถูกสอบถามมากตอนสัมภาษณ์เกี่ยวกับการสมรส

ถ้าคุณหย่าทันทีหลังได้ใบเขียว 10 ปีและคุณแต่งงานใหม่ทันที และยื่นเรื่องทำใบเขียวให้แฟนใหม่ เนื่องจากคุณเป็นเพียงใบเขียว จะใช้เวลานานประมาณ 6-7 ปี แฟนใหม่ถึงจะได้ใบเขียว ฉะนั้นเมื่อคุณถือใบเขียวครบ 5 ปี คุณรีบยื่นเรื่องโอนสัญชาติเพื่อแฟนใหม่จะได้ใบเขียวเร็วขึ้น ปัญหาที่คุณจะเจอคือ วันไปสัมภาษณ์สอบซิติเซ่น คุณจะถูกเพ่งเล็ง

หย่าหลังได้ซิติเซ่น
ถ้าคุณได้ใบเขียวแต่งงานและภายหลังได้ซิติเซ่นภายใน 3 ปี ถ้าคุณหย่าและแต่งงานใหม่ทันทีหลังได้ซิติเซ่น และยื่นเรื่องขอใบเขียวให้แฟนใหม่ คุณจะถูกเพ่งเล็ง 2 อย่างคือ (1) ตอนคุณแต่งงานและทำใบเขียว คุณมี “โบนา ไฟด์ส แมริเอจ” หรือไม่ และ (2) ตอนระหว่างคุณทำซิติเซ่น คุณอยู่บ้านเดียวกันกับคู่สมรสหรือไม่ ตามศัพท์อิมมิเกรชั่นเรียก” และคุณมีชู้หรือ“เอ็กซตร้า แมริทัล แอ็ฟแฟร์ส” (extra marital affairs) ระหว่างยังสมรสหรือไม่ การมี“เอ็กซตร้า แมริทัล แอ็ฟแฟร์ส” ภาษากฎหมาย เรียก“บิ๊กกามี่”(Bigamy) ซึ่งการ “แพร็กทิส บิ๊กกามี่” เป็นข้อห้ามหนึ่งในการทำซิติเซ่น เพราะเข้าข่ายความประพฤติเสีย (Moral Character) และบางรัฐยังถือว่า“บิ๊กกามี่” ผิดกฎหมายและเป็นข้อเงื่อนไข (“กราวนด์” หรือ ground) หนึ่งของการหย่า ฉะนั้นถ้าคุณมี“เอ็กซตร้า แมริทัล แอ็ฟแฟร์ส”ซึ่งเป็นเหตุผลของการหย่า คุณก็ไม่ควรจะได้ซิติเซ่นตอนนั้น เวลาคุณยื่นเรื่องใบเขียวและสัมภาษณ์ นอกจากคุณต้องแสดงหลักฐานว่า คุณแต่งจริง และอยู่ด้วยกันกับคู่สมรสซิติเซ่นจนกระทั่งได้ซิติเซ่น คุณยังต้องให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าคุณไม่ได้มี “เอ็กซตร้า แมริทัล แอ็ฟแฟร์ส” กับคู่สมรสคนใหม่ในขณะที่คุณอยู่กับคู่สมรสคนแรก กรณีที่คุณได้ซิติเซ่นปุ๊บ หย่าปั๊บและแต่งงานใหม่ “ไทม์มิ่ง” (timing) มัน “อ๊อฟ” (off) สุดๆ สถานการณ์มันส่อไปในทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวข้างต้น

หลักฐานประกอบ
หลักฐานที่คุณต้องแสดง นอกจากความจริงใจแล้วคือ ประวัติที่อยู่ ประวัติที่ทำงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณรู้จักกับคู่สมรสใหม่เมื่อไร และคุณโคจรมาปิ๊งกันได้อย่างไร คุณต้องเก็บหลักฐานไว้อย่างดี และเก็บไปเรื่อยจนกว่า คุณจะได้ซิติเซ่น คู่สมรสใหม่จะได้ใบเขียว 2 ปี และได้ใบเขียว 10 ปี และได้เป็นซิติเซ่นในที่สุด เพราะแต่ละครั้งที่เรื่องผ่าน ไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปจะผ่านไปได้ราบรื่น (อย่าชะล่าใจ) เพราะแต่ละครั้งคุณจะถูกเพ่งเล็ง เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นแต่ละคนมองเคสต่างๆกัน และขึ้นอยู่กับคุณอยู่รัฐไหน ถ้าคุณอยู่รัฐที่ Bigamy ผิดกฎหมายและเป็นข้อเงื่อนไข (ground) หนึ่งของการหย่า หรือคุณอยู่รัฐที่ “คอนเซอร์เวทีฟ” (conservative) คือพวกหัวเก่ามากๆหรือเจอเจ้าหน้าที่ๆ “คอนเซอร์เวทีฟ” คุณก็จะถูกเคี่ยวมากๆ วันสัมภาษณ์หวังว่าข้อมูลนี้ช่วยตอบคำถามหย่าเมื่อไร แต่งเมื่อไรได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเคสแต่ละคน

source :www.rujirat.com

กฎหมายหย่าร้าง (1)

กฎหมายการแต่งจะง่ายกว่ากฎหมายการหย่า เพราะเมื่อคุณจดทะเบียนสมรสสำหรับรัฐไม่ค่อยมีส่วนเสียมีแต่ส่วนได้ คือโดยทั่วไปสังคมจะส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตครอบครัว (Family unity) ฉะนั้นการแต่งงานร่วมชีวิตคู่ถือเป็นสิ่งดี ส่วนการหย่าถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐมีแต่ส่วนเสีย เพราะการหย่าถือว่ากระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของพลเมืองในรัฐ ตัวอย่าง เมื่อคุณหย่ากัน ประเด็นใหญ่คือเรื่อง เงิน กับลูก ถ้าคุณตกยาก คู่สมรสไม่เลี้ยงดูคุณ หรือไม่เลี้ยงดูลูก ก็ตกเป็นภาระของรัฐ คุณก็ต้องกินเวลแฟร์ เจ็บป่วยขึ้นมารัฐก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาล

ฉะนั้นการหย่าจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละรัฐจะมีกฎของรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องอาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆระยะหนึ่งถึงจะยื่นเรื่องหย่าในรัฐนั้นๆได้ เรียก Residency Requirement และระยะการคอย เรียก Waiting Period กว่าการหย่าจะสิ้นสุดหรือ Fianl ก็ต่างกันในแต่ละรัฐ อาจเร็วตั้งแต่ 1 สัปดาห์ถึง 6 เดือน คุณสามารถหย่ารัฐที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ เช่นสามีอยู่คาลิฟอร์เนีย ภรรยาอยู่โอริกอน คุณสามารถหย่ารัฐคาลิฟอร์เนียหรือโอริกอนได้

กฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่าเป็นกฎหมายรัฐ ฉะนั้นแต่ละรัฐจะมีกฎระเบียบต่างกัน ส่วนกฎหมายอิมมิเกรชั่นเป็นกฎหมายรัฐบาลกลาง ฉะนั้นจะเหมือนกันหมดทั่วอเมริกา

ระเบียบการหย่า
กฎหมายหย่าร้างในอเมริกาต่างกับเมืองไทยคือ ในเมืองไทยถ้าสามีภรรยาเต็มใจหย่าทั้งคู่ก็เดินขึ้นอำเภอหรือสำนักงานเขต เซ็นใบหย่า เสร็จเรื่อง แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมถึงต้องขึ้นศาล ส่วนในอเมริกา กฎหมายต่างกันโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ไม่ต้องรอขออนุญาตหรือบอกอีกฝ่าย หรือถึงแม้อีกฝ่ายไม่ยินยอม ระเบียบการหย่าหรือ “ดีวอร์ซโพรซี้ดเจ้อร์” (Divorce procedure) ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นระเบียบของรัฐคาลิฟอร์เนีย

คุณหรือฝ่ายฟ้องหย่ายื่นเรื่องฟ้องหย่าเข้าไปในศาล และส่งหมายฟ้องไปให้อีกฝ่าย หลังจากฝ่ายที่ถูกฟ้องหย่าได้รับโนติสหมายศาล เขามีเวลาตอบภายใน 30 วัน อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องตอบ ถ้าเขาไม่ตอบคือไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อครบ 30 วัน “พรอเซส” (process) ในศาลก็จะดำเนินไป การหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยายแบบนี้ คุณก็จะได้ใบหย่าจากศาล เรียก Uncontested Divorce

ถ้าคุณอยู่รัฐคาลิฟอร์เนีย ใช้เวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ศาลรับเรื่อง เมื่อถึงเวลา การหย่าก็จะสิ้นสุดลงโดยปริยาย โดยทั้งสองฝ่ายไม่ต้องไปปรากฏตัวในศาลเลย แต่ละรัฐเรียกใบหย่าไม่เหมือนกัน รัฐคาลิฟอร์เนียเรียก Judgment บางรัฐเรียก Divorce Decree เป็นต้น คุณต้องดูใบนี้ว่าการหย่าคุณสิ้นสุดวันไหน หลังจากนั้นถ้าคุณต้องการแต่งงานใหม่ คุณจดทะเบียนใหม่ได้เลย

ในกรณีที่มีประเด็นทรัพย์สิน บุตรและค่าเลี้ยงดู ก็จะมีข้อเขียนเป็นสัญญายื่นเข้าไปในศาลด้วย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สิน และบุตรอยู่กับใคร ซึ่งสองประเด็นนี้อาจยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมขึ้นอยู่กับคู่หย่าที่จะตกลงกัน แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูบุตร ฝ่ายที่บุตรไม่ได้อยู่ด้วยอาจเป็นพ่อหรือแม่ ฝ่ายนั้นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามตารางอัตราขั้นต่ำที่รัฐกำหนดมากกว่านั้นได้แต่ห้ามน้อยกว่านั้น

พ่อแม่ไม่สามารถสละสิทธิไม่รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจากอีกฝ่าย เพราะถือว่าเงินนั้นเป็นเงินของบุตร ไม่ใช่เงินของคุณ ถ้าทั้งสองตกลงกันได้ก็เซ็นข้อสัญญา โดยไม่ต้องไปปรากฏตัวในศาล ข้อสัญญานั้นจะผูกมัดทั้งสองฝ่าย และการหย่าก็เป็นไปตามปกติ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ คราวนี้คุณต้องไปศาล

ไม่เซ็นหย่าได้หรือไม่
ถ้าคุณอยู่รัฐที่เป็น No Fault State เช่นรัฐคาลิฟอร์เนีย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ โดยไม่ต้องเซ็นหย่า หรือถ้าอยู่ในรัฐที่ต้องเซ็นหย่า ก็ควรจะเซ็นหย่า ตามที่มีอีเมล์ถามมาว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่าหรือไม่ยอมเซ็นหย่าได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ค่ะ และถ้าอีกฝ่ายไม่เซ็นหย่าการหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยาย ฉะนั้นถ้าคุณแต่งงานสั้นและไมมีประเด็นทรัพย์สิน หรือบุตรเข้ามาเกี่ยว คุณนั่งอยู่เฉยๆไม่ต้องทำอะไร การหย่าก็จะสิ้นสุดโดยปริยาย กรณีที่สามีซิติเซ่นฟ้องหย่าก่อนที่จะทำใบเขียวให้ หรือระหว่างทำ ถึงแม้คุณจะไม่มีความผิดอะไร หรือเขาไปมีแฟนใหม่ ถึงคุณไม่เซ็นหย่า เขาก็หย่าได้อยู่ดี ตามกฎหมายในอเมริกาการแต่งงานเปรียบเทียบเหมือนการเซ็นสัญญาระหว่างผู้ใหญ่สองคนที่จะมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่อยากอยู่ด้วย เขาก็มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญานั้นได้ ฉะนั้นไม่หย่าไม่ได้ค่ะ ถ้าจะทะเลาะกันเรื่องทรัพย์สินหรือบุตรก็อีกเรื่อง ก็ยังต้องหย่าอยู่ดี

ผลของการหย่ากับการทำใบเขียว
กรณีวีซ่าขาดแล้วตอนยื่นเรื่องทำใบเขียว
ถ้าคุณหย่าก่อนยื่นเรื่องใบเขียว คุณก็ไม่ได้ทำใบเขียว ถ้าคุณหย่าระหว่างทำใบเขียวก็ลำบากหน่อยสำหรับคุณที่เป็นโรบินฮู้ดเรียบร้อยแล้ว

ในกรณีที่วีซ่าคุณขาดแล้ว ตอนคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวแต่งงาน และคู่สมรสไม่ร่วมมือ หรือเลิกกันระหว่างดำเนินเรื่อง คุณแทบจะไม่มีทางออกเลยนอกจาก พยายามหาแฟนใหม่และยื่นเรื่องขอใบเขียวใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะถ้าเรื่องคุณถูกยกเลิก หรือคุณไม่ไปปรากฎตัววันสัมภาษณ์ ทางอิมมิเกรชั่นจะ ส่งโนติสให้เวลาคุณเดินทางออกนอกประเทศ และหลังจากนั้นเขาจะดำเนินเรื่องขับไล่คุณ เรียก Removal proceeding ถ้าคุณเจอปัญหาถูกขับไล่ และในอนาคตคุณแต่งงานใหม่กับซิติเซ่น คุณจะต้องทำเรื่องขอผ่อนผันก่อนที่คุณจะทำเรื่องขอใบเขียว

ถ้าคุณหรือคู่สมรสได้ยื่นเรื่องหย่าแล้ว แต่การหย่ายังไม่สิ้นสุด คุณอาจพยายามอู้เวลา รอจนได้วันนัดสัมภาษณ์ และอาจยื่นขอเลื่อนวันสัมภาษณ์ กรณีนี้เท่ากับคุณ”ซื้อ”เวลาต่อได้อีก 1-2 เดือน (ระหว่างรีบหาแฟนใหม่)

ขอแนะนำว่าถ้าฝ่ายซิติเซ่นต้องการหย่าจริงๆและไม่มีทางที่คุณจะเอาเขาอยู่ คุณก็ควรรีบหย่าไปให้สิ้นสุดเร็วที่สุด เพื่อคุณจะได้เป็นไทแก่ตัว และฟรีที่จะไปมีแฟนใหม่ ถ้าเจอแฟนใหม่และเขาไม่ขอแต่งงานสักทีก็ขอเขาแต่งงาน บอกตามตรงว่าคุณชอบเขาแต่ไม่มีเวลาดูใจกันนานเพราะคุณเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศและคุณต้องการใบเขียว เพราะตอนนี้คุณเริ่มแข่งกับเวลา ในระหว่างที่เคสเก่ายังค้างอยู่และคุณได้แต่งงานใหม่ คุณสามารถยื่นเคสใหม่ได้ แนะนำให้ทนายทำ เพราะเคสที่สองนี้คุณจะถูกเพ่งเล็ง

กรณีวีซ่ายังไม่ขาดตอนยื่นเรื่อง
ถ้ากรณีที่วีซ่าคุณยังไม่ขาด หรือขาดแล้วไม่เกิน 6 เดือน ณ. วันที่คุณยื่นเรื่องขอใบเขียว (ถึงแม้วีซ่าจะขาดแล้วระหว่างคอยเรื่องก็ตาม) ถ้าชีวิตคู่ไปไม่รอดและคุณหย่าก่อนได้ใบเขียว คุณอาจตัดสินใจรับอาสาเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อรักษาประวัติ และไปตั้งต้นชีวิตใหม่ เพราะถ้าสักวันหนึ่งคุณเจอเนื้อคู่ใหม่ เขาสามารถทำเรื่องขอใบเขียวให้คุณมาจากเมืองไทยได้ โดยคุณไม่เจอปัญหา unlawful presence

ถ้าหย่าหลังคุณได้ใบเขียวสองปีแล้ว และชีวิตคู่ไปไม่รอด อันนี้คุณมีภาษีดีกว่ากรณีข้างต้น เพราะคุณสามารถยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปีด้วยตนเองได้ คุณแสดงหลักฐานว่าคุณแต่งงานและอยู่ด้วยกันจริงฉันสามีภรรยา แต่เนื่องจากมีปัญหาชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้ กรณีนี้คุณต้องยื่นเรื่องหย่าแล้วและการหย่าต้องสิ้นสุดก่อนที่เรื่องคุณจะผ่าน

source : www.rujirat.com

Violence Against Women Act : Vawa

หญิงไทยที่แต่งงานกับซิติเซ่นและต้องตกอยู่ในอำนาจ การควบคุม ข่มขู่ หรือถูกทารุณจากสามีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางร่างกายหรือ/และจิตใจ โดยสามีถือว่าตนเองถือไพ่เหนือกว่าเนื่องจากคุณต้องพึ่งเขาเรื่องใบเขียว คุณมีทางออกที่จะยื่นเรื่องขอใบเขียวด้วยตนเองได้ถ้าสามีไม่ยอมทำให้หรือไม่ร่วมมือ เคสที่คู่ภรรยายื่นเรื่องด้วยตนเองในสภาพหญิงถูกทารุณ/ข่มขู่เรียกเคสภายใต้ Violence Against Women Act หรือเรียกย่อๆว่า “วาว่า” เคส (VAWA)

ตามสถิติสหรัฐในแต่ละปีหญิงถูกทารุณมีมากกว่า 20 ล้านคน และเสียชีวิตจากการทารุณประมาณ 1,300 คน สังคมตื่นตัวมากขึ้นตอนคดีดัง โอเจ ซิมสัน (O.J. Simpson) ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่า ภรรยา นิโคล ซิมสันและแฟน (ชู้) ปี 1994 ปัจจุบันศาลได้ตีความหมายลักษณะการทารุณกว้างมาก ตามสถานการณ์เหล่านี้คือ

Isolation
คือการบังคับไม่ให้ออกไปไหน รวม บังคับไม่ให้ไปพบปะ คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือใครๆที่พูดภาษาไทย และไม่อนุญาตให้คุณไปเรียนภาษาอังกฤษ

Intimidation
การกระทำที่ถือว่าเป็นการ “อินทิมิเดท”คุณให้คุณรู้สึกต่ำต้อย เช่น เก็บ ซ่อน หรือทำลายเอกสารสำคัญของคุณส่วนมากเป็นเอกสารสำคัญไทย รวมทั้ง พาสปอร์ต ใบเกิด บัตรประชาชน ใบขับขี่ เป็นต้น ขู่และใช้ความเป็นซิติเซ่นของเขาเหนือคุณ ข้อนี้รวมทั้งไม่ยอมยื่นเรื่องขอใบเขียวให้คุณ หรือขู่ไม่ทำใบเขียวให้ ดึงเรื่องอ้างโน่น อ้างนี่ ยกเลิกเรื่องหรือขู่จะโทรไปยกเลิกเรื่องที่อิมมิเกรชั่น ขู่จะโทรไปแจ้งอิมมิเกรชั่นให้มาจับคุณ ใช้ลูกเป็นเครื่องมือ ขู่จะพรากลูกไป หรือขู่จะแจ้งให้อิมมิเกรชั่นมาจับลูกคุณ

Emotional Abuse
คำว่า “อะบิวส์” (Abuse) หมายความว่าการข่มขู่ ขืนใจ จะมากกว่าการทำร้ายจิตใจธรรมดา อีโมชันเนิ่ล อะบิ๊วส์ คือการข่มขืนทางจิตใจ รวมทั้งโกหกเกี่ยวกับสถานภาพอิมมิเกรชั่นของคุณ เช่นบอกว่าคุณอยู่เถื่อนทั้งๆที่คุณได้ใบเขียวแล้ว เขียนจดหมายถึงครอบครัวคุณและเขียน เล่าใส่ความเท็จเกี่ยวกับคุณ ใช้คำศัพท์เรียกคุณ หยาบๆคายๆ เป็นต้น

Economic Abuse
คือการข่มขืนทางเศรษฐกิจ คือไม่ต้องการให้คุณทำงานมีปัญญาไปหาเลี้ยงตัวเองได้รวมทั้ง ขู่จะแจ้งอิมมิเกรชั่นถ้าคุณทำงานรับเงินใต้โต๊ะ ไม่ยอมให้คุณไปทำงานนอกบ้าน หรือฝึกงาน หรือไปเรียนหนังสือหาความรู้

Sexual Abuse
คือการข่มขืนทางเพศ ไม่จำเป็นต้องเป็นการบังคับให้นอนด้วยเท่านั้น แต่รวมไปถึง ด่าคุณว่า เป็นผู้หญิงหากิน หรือเจ้าสาวทางอีเมล์หรือเจ้าสาวไปรษณีย์ หรือด่าทอว่าคุณมีประวัติเป็นหญิงหากิน หรือขายตัวเองเพื่อเอาใบเขียว เป็นต้น

ยื่นขอใบเขียวด้วยตนเอง
ถ้าคุณตกเข้าข่ายข้างต้นนี้ คุณมีทางออกโดยยื่นเรื่องขอใบเขียวด้วยตนเองโดยสามีไม่ต้องเซ็นเรียก VAWA self petitioning ถ้าคุณมีปัญหาระหว่างยื่นเรื่องขอใบเขียวสองปี และคุณยื่นเรื่องภายใต้ VAWA เมื่อเรื่องแอ็พพรูฟ คุณจะได้ใบเขียวถาวรหรือใบเขียว 10 ปีเลย แต่ถ้าคุณมีปัญหาตอนยื่นใบเขียวสิบปี คุณสามารถยื่นเรื่องขอยกเลิกเงื่อนไขด้วยตนเองได้

ผู้ที่แต่งงานกับใบเขียว
ถ้าสามีใบเขียวเป็นคนยื่นเรื่องให้ คุณต้องรอจนกระทั่งโควต้ามาใบเขียวมาถึงก่อนประมาณ 5-7 ปี คุณถึงจะยื่นเรื่องขอใบเขียวภายใต้ VAWA ด้วยตนเอง ระหว่างคอย คุณไม่จำเป็นต้องทนอยู่กับเขา อาจแยกกันอยู่หรือหย่าได้ และถ้าระหว่างคอยสามีได้ซิติเซ่น คุณสามารถยื่นเรื่องได้ทันที

ผู้ที่รอใบเขียวอยู่เมืองไทย
ผู้ที่ทำใบเขียวและรอเรื่องอยู่เมืองไทย คุณสามารถยื่นเคส VAWA ได้ผ่านทางสถานทูตได้ซิติเซ่นใน 3 ปี โดยปกติผู้ได้ใบเขียวจากการแต่งงานกับซิติเซ่น สามารถยื่นเรื่องขอซิติเซ่นได้ 3 ปีนับจากวันที่ได้ใบเขียว แต่ถ้าคุณหย่า คุณต้องรอทำซิติเซ่น 5 ปี นับจากวันที่ได้ใบเขียวสองปี แต่ถ้าคุณได้ใบเขียวภายใต้ VAWA คุณสามารถทำ ซิติเซ่นได้ 3 ปีนับจากวันที่ได้ใบเขียวแรก โดยไม่ต้องคอยถึง 5 ปี

หลักฐานประกอบ
เคส VAWA นี้เป็นเคสที่ละเอียดมาก ต้องอาศัยหลักฐานประกอบ กรณีเคสที่คุณถูกตบตี จะมีหลักฐานประกอบแน่นแฟ้นขึ้น เช่น อาจมีการแจ้งตำรวจ มีรูปถ่ายรอยฟกช้ำดำเขียว มีคนเห็นรอยฟกช้ำดำเขียว มีใบสั่งตำรวจหรือหมายศาล ใบเสร็จบิลโรงแรมวันคุณต้องหอบเสื้อผ้าหนีไปอยู่นอกบ้าน หรือสถานที่พักหญิงถูกทารุณ (Women Shelter) แต่เคสที่ไม่มีหลักฐานประกอบเลย จำเป็นต้องเอาข้อมูลละเอียดจากปากคำของคุณเองและอาจมีพยานจากผู้อื่นที่รู้เรื่องของคุณ รวมทั้งเพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น ฉะนั้นถ้าคุณจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆไว้ จะเป็นการดี

ใครยื่นเรื่องภายใต้ VAWA ได้
ผู้ที่จะยื่นเรื่องภายใต้ VAWA ได้นอกจากจะถูกทารุณตามข้างต้นแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆดังนี้
- คุณต้องแต่งงานจริง หรือ Good faith marriage คือมีเจตนาที่จะอยู่กินฉันสามีภรรยา
- กรณีที่คุณแต่งงานจริง แต่จดทะเบียนซ้อนโดยที่คุณเป็นฝ่ายบริสุทธิ์ไม่รู้ว่าสามีเคยมีภรรยามาก่อนแล้วและยังไม่ได้หย่า คุณสามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน
- ลูกที่แอ็พพลายใบเขียวพร้อมคุณ จากพ่อเลี้ยงซิติเซ่นหรือพ่อเลี้ยงถือใบเขียว
- พ่อหรือแม่ ที่ถูกลูกซิติเซ่นข่มขู่และ “อะบิ๊วส์” หรือลูกแท้ๆที่ถูกพ่อหรือแม่ข่มขู่และ “อะบิ๊วส์”

คุณต้องอยู่กับสามีในบ้านเดียวกัน กรณีพ่อแม่ลูกต้องอยู่บ้านเดียวกันกับตัวซิติเซ่นที่“อะบิ๊วส์” คุณต้องมีความประพฤติและประวัติดี
* ถ้าตัวสามีสูญใบเขียว คุณยังสามารถยื่นเรื่องให้ตนเองได้ ตราบใดที่คุณสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าตัว
สามีสูญใบเขียวเกี่ยวเนื่องจากการ “อะบิวส์”
* ถ้าคุณหย่ากับสามีแล้ว คุณยังสามารถยื่นเรื่องให้ตนเองได้ ตราบใดที่คุณสามารถแสดงหลักฐานได้ว่า
คุณหย่ากันเนื่องจากคุณการ “อะบิวส์”

ข้อแนะนำ
ข้อแนะนำสำหรับหญิงที่ถูกข่มขู่ทารุณ คุณมีทางออกได้มาก กฎหมายอมริกันปกป้องคุ้มครองคุณ แต่คุณต้องรักตัวเองก่อน และเอาความปลอดภัยและเอาตัวรอดก่อนที่จะห่วงสามี ผู้ชายที่ทารุณผู้หญิง ถือเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับคนติดเหล้า ติดการพนัน และจะมีแบบแผนเหมือนกันหมดคือ เมื่อข่มขู่ทารุณเมียซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอเสร็จ พอสร่างก็จะกลับมาง้องอนคืนดี และจะดีใจหาย จนเมียใจอ่อน สงสารและทนอยู่ต่อหรือไม่ยอมเรียกตำรวจหรือไม่ยอมให้การในศาล ดิฉันขอให้คุณใจแข็ง ตั้งสติแทนที่จะนั่งร่ำไห้ น้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาตนเอง ขอให้คุณสู้กับโชคชะตา ช่วยตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นช่วย

source : www.rujirat.com

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับ Sex crimes (1)

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับ Sex crimes และ Convicted sex offenders ที่ผ่านมาออกมา มีผลกับการขอใบเขียวครอบครัว

SEX CRIMES“เซ็กส์ ครายมน์ส” คือ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ รวมทั้งลวนลาม กระทำชำเรา ทำร้ายร่างกายสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งตบตีคู่สมรส บุตร พ่อแม่ เรียก Domestic violence มีเพศกับเด็ก รวมไปถึงอาชญากรรมสมัยใหม่ทางอินเตอร์เน็ท เช่นถ่ายรูปโป๊เด็กและโพสท์รูปออนไลน์ (Child pornography through internet)แช็ทกับเด็กออนไลน์ด้วยเจตนาที่จะมีเพศกับเด็ก เป็นต้น

CONVICTED SEX OFFENDERSคือ ผู้ที่ถูกคอนวิกเท็ดหรือถูกตัดสินแล้ว ว่ากระทำผิดทางด้าน SEX CRIMES

ผู้มีคดีทางเพศยื่นใบเขียวให้ครอบครัวไม่ผ่านเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2006 ประธานาธบดีบุชเซ็นผ่านกฎหมาย Sex Offender Bill ชื่อ The Adam Walsh Child Protection and Safety Act of 2006 ปกป้องเด็กจาก sex predators แปลตรงตัวแล้วกันนะคะ คือ “คนล่าเหยื่อทางเพศ” โดยไม่แอ็พพรูฟเรื่องการทำใบเขียวที่ CONVICTED SEX OFFENDERS ยื่นให้ครอบครัว และถ้าผู้ใดที่มีใบเขียวหรือชาวต่างขาติที่มีคดีเกี่ยวกับ SEX CRIMES และไม่ขึ้นทะเบียน ให้ถือเป็นความผิดทางอาญาที่สามารถถูกเนรเทศได้ โดยปกติตามกฎหมาย SEX CRIMES ต้องขึ้นทะเบียนคล้ายๆประจานตนเอง และสาธารณชนสามารถเช็คเข้าไปทางอินเตอร์เน็ท ดูรายชื่อ CONVICTED SEX OFFENDERS ได้ คุณคงเคยได้ยินหรืออ่านข่าวบ่อยๆที่เมื่อไร CONVICTED SEX OFFENDERS ย้ายไปอยู่เขตไหน จะมีเพื่อนบ้านออกมาร้องเรียนขับไล่ไม่ให้เขามาอยู่

นอกจากนี้อเมริกันซิติเซ่นหรือผู้ถือใบเขียวที่มีคดีทางเพศเกี่ยวกับเด็ก ไม่สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวให้คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง และบุตรได้เลย นอกจากจะยื่นเรื่องขอผ่อนผันก่อน

source : www.rujirat.com

กฎหมายค่าเลี้ยงดูบุตร

ค่าเลี้ยงดูบุตร หรือ ชายลด์ ซัพพอร์ท ตามกฎหมายอเมริกันถ้าคุณมีบุตรในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบุตรนอกสมรส บุตรเกิดในสมรสแต่ไม่ใช่ลูกคุณ (นอกจากคุณจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่ลูกคุณ ภายในสองปีหลังจากเด็กเกิด) คุณมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตร จนกระทั่งเด็กอายุ 18 ปี การไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรมีความผิดตามกฎหมาย ถือเป็นคดีอาญา กฎหมายนี้ใช้กับทั้งพ่อและแม่

ถ้าเด็กอยู่กับพ่อ แม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน
สมมติว่าฝ่ายผู้ชายที่ไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร ผลจากการไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร ถ้าผู้หญิงไปกินเวลแฟร์หรือขอสวัสดิการรัฐ หรือฟ้องศาลว่าคุณไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร
ผลคือ คุณไม่สามารถขอใบขับขี่หรือต่ออายุใบขับขี่ได้ มีปัญหาเมื่อจะทำซิติเซ่น หรือถ้าเป็นซิติเซ่น ถ้าติดค่าเลี้ยงดูบุตรเกิน $2,500 ไม่สามารถขอพาสปอร์ตได้ ติดคุก รัฐแจ้งนายจ้างและบังคับให้นายจ้างหักเงินออกจากเงินเดือนจ่ายเงินคืนรัฐ (เผลอๆถูกเชิญออกจากงาน) รัฐบาลพยายามอกกฎหมายเข้มงวดมากขึ้น ที่รัฐต้องยื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะถ้าคุณไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร และแม่หรือพ่อเด็กไปกินเวลแฟร์ รัฐตกที่นั่งต้องเลี้ยงดูลูกคุณ


ข้อตกลงระหว่างพ่อแม่ไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรถ้าพ่อแม่หย่ากัน พ่อแม่ไม่สามารถตกลงกันเองว่าไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร เพราะกฎหมายมองในรูปว่าพ่อหรือแม่ไม่สามารถสละสิทธิ์ค่าเลี้ยงดูบุตรแทนตัวบุตรได้ เพราะเงินนั้นเป็นเงินของเด็กที่จะดำรงชีวิตความเป็นอยู่ได้โดยไม่อดอยาก จำนวนเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจะเป็นไปตามสูตรและปรับขึ้นลงได้ขึ้นอยู่กับรัฐและฐานะการเงินของพ่อหรือแม่ ในกรณีเด็กนอกสมรสพ่อยังต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน

ปัญหาเรื่องค่าเลี้ยงดูปัญหาเกี่ยวกับเคสอิมมิเกรชั่นผลมาจากค่าเลี้ยงดูบุตร และบางครั้งไม่ใช่ความผิดของพ่อเด็ก ตัวอย่าง- แต่งงานปลอมเพื่อขอใบเขียว กรณีนี้คือฝ่ายชายแต่งงานกับซิติเซ่นหญิง ฝ่ายหญิงมีแฟนหรือ “ผัว” อยู่แล้ว เกิดท้องและมีลูกระหว่างสมรสกับ “ผัว” ทางฝ่ายชายที่ทำใบเขียวก็ดีใจ เพื่อจะได้สัมภาษณ์ขอใบเขียวได้ง่ายขึ้น ขอเตือนคุณผู้ชายนะคะ อย่ายอมเป็นอันขาด เพราะไม่คุ้มค่ะ คุณจะต้องติดจ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กไปจนเด็กอายุ 18 ปี เพราะเด็กในสมรสตามกฎหมายถือว่าคุณเป็นพ่อ นอกจากคุณจะปฏิเสธและพิสูจน์ว่าคุณไม่ใช่พ่อเด็กภายในสองปีนับจากเด็กเกิด (ซึ่งส่วนมากก็จะไม่กล้าทำเนื่องจากกลัวจะเรื่องแดงขึ้นว่าแต่งปลอม) เพราะถ้าฝ่ายหญิงไปขอสวัสดิการรัฐหรือกินเวลแฟร์เมื่อไร คุณตกที่นั่งต้องใช้เงินรัฐไปอีกหลายปีจนเด็กอายุ 18


- พ่อจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรแต่แม่ยังขอสวัสดิการรัฐสามีภรรยามีลูกด้วยกันและเลิกกันด้วยดี สามีจ่ายเงินให้ภรรยาเป็นเงินสดทุกครั้งเมื่อภรรยาขอ อาจขอเงินค่าเสื้อผ้า หรืออาหารเด็ก หรือค่าเช่าบ้าน ตัวภรรยาไปขอสวัสดิการรัฐใช้ในฐานะแม่โสดหรือ single parent ในกรณีนี้แม่มักกรอกข้อมูลและต้องแจ้งว่าพ่อไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร ถึงจะได้สวัสดิการมากขึ้น ทางรัฐเมื่อตามตัวพ่อเด็กพบ ส่วนมากจากข้อมูลภาษีที่คุณยื่น ก็ฟ้องร้องพ่อเด็กเรียกเก็บเงินคืน ตัวพ่อก็ต้องไปขึ้นศาลพิสูจน์ว่าจ่ายเงินสดให้ภรรยา ถ้าพ่อพิสูจน์ได้ ตัวผู้หญิงก็ตกที่นั่งลำบากเพราะฉ้อฉลเงินรัฐบาล แต่ถ้าพ่อพิสูจน์ไม่ได้ตัวเองก็ตกที่นั่งลำบาก กรณีนี้ผลลัพธ์ออกมาลำบากทั้งสองฝ่าย


ข้อแนะนำ สำหรับพ่อ เวลาคุณจ่ายเงินให้แม่เด็กไม่ว่าจะเป็นค่าอะไรก็ตามหรือให้ค้สยเสน่หา หรือความสงสาร ขอให้จ่ายเป็นเช็คทุกครั้งและจ่ายรายเดือนตรงตามจำนวนที่ตกลงจากศาลตอนหย่า ถ้าคุณต้องการจ่ายนอกเหนือต่างหากได้ด้วยความเสน่หาหรือสงสารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ให้จ่ายเป็นเช็คเช่นกัน ส่วนข้อเตือนสำหรับผู้หญิง โปรดอย่าทำ คุณตัดอนาคตตัวเองและของผู้ชาย เพราะเท่ากับคุณฉ้อฉลเงินรัฐ คดีฉ้อฉลถือเป็นความร้ายแรงเข้าไปถึงความประพฤติ เพราะถ้าคุณยังไม่เป็นซิติเซ่น คุณจะมีปัญหาตอนทำซิติเซ่น


source : www.rujirat.com

กฎหมายนามสกุล

ตามกฎหมายนามสกุลอเมริกัน หลังที่ผู้หญิงแต่งงาน ผู้หญิงมีสิทธิจะเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีใหม่โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องยื่นเรื่องในศาล นามสกุลของสามีเรียก “แมรี่ด์ เนม” (married name) หรือถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนก็สามารถใช้นามสกุลเดิมตั้งแต่เกิดคือตอนยังเป็นสาวอยู่เรียก “เม๊ดเด้น เนม” (maiden name)หรือคุณอยากจะใช้สองนามสกุลของคุณและของสามีเลยก็ได้ โดยใช้ชื่อ นามสกุลไทย และตามด้วยนามสกุลสามี ตัวอย่าง “รุจีรัตน์ สีต์วรานนท์ โททาริ” หรือคุณที่เคยแต่งงานมาก่อนอาจคงใช้นามสกุลของสามีเก่า โดยไม่เปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีใหม่ (ส่วนมากเป็นกรณีที่ผู้หญิงมีบุตรกับสามีเก่า เธออาจอยากคงนามสกุลเดิม เพื่อไม่ทำให้ลูกเล็กๆสับสน) ตามกฎหมายอเมริกันหลังหย่า คุณมีสิทธิกลับไปใช้นามสกุลเดิม “เม๊ดเด้น เนม” ได้โดยอัตโนมัติ หรือคงนามสกุลสามี “แมรี่ด์ เนม” ไว้ได้เป็นสิทธิของคุณ

เปลี่ยนใช้นามสกุลได้เมื่อไร
หลังคุณแต่งงาน คุณอาจจะเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีได้ทันทีหลังแต่งงาน หรือถ้ายังไม่แน่ใจ คุณสามารถใช้นามสกุลไทยไปก่อน เมื่อไรนึกอยากเปลี่ยนก็เริ่มใช้นามสกุลของสามีได้ทันที ตัวอย่าง “ฮิลลารี่ คลินตัน” หลังแต่งงานกับ “บิล คลินตัน” ยังคงนามสกุลเดิมตนเองคือ “ฮิลลารี่ ร็อดแฮม” อยู่นาน จนกระทั่ง “บิล คลินตัน” ได้เป็นประธานาธิบดี เธอถึงเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี

source : www.rujirat.com

ทำพาสปอร์ตไทยใหม่ต้องจดทะเบียนใหม่หรือไม่

กรณีที่จดทะเบียนสมรสในอเมริกา และถ้าทำพาสปอร์ตไทยใหม่เพื่อเปลี่ยนนามสกุลตามสามี ต้องจดทะเบียนในไทยใหม่หรือไม่

ตามกฎหมายครอบครัวไทย ถ้าคุณจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ คุณต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎมายไทยด้วย คืออาจจดที่กงสุลถ้าคุณอยู่ต่างแดน หรือในเมืองไทย แต่ตามกฎหมายสากล ถ้าคุณจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศหนึ่ง เท่ากับคุณมีสถานภาพแต่งงานแล้ว คุณไม่สามารถไปจดทะเบียนซ้อนอีกในประเทศอื่นได้ ถือว่าผิดกฎหมาย ฉะนั้นดิฉันคิดว่า ถ้าคุณเปลี่ยนพาสปอร์ตไทยที่กงสุลไทยในอเมริกา คุณอาจเพียงแสดงทะเบียนสมรสของอเมริกาเป็นหลักฐาน แต่ถ้าคุณต้องส่งพาสปอร์ตไปทำเมืองไทย คุณอาจตองจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย คุณอาจลองเช็คกับสถานกงสุลไทยในอเมริกาดูอีกที

บินเข้าไทยใช้พาสปอร์ตอะไรดี
คุณที่ได้โอนสัญชาติเป็นอเมริกันซิติเซ่นและมีอเมริกันพาสปอร์ต ตามกฎหมายอเมริกัน คุณสามารถถือสองสัญชาติได้ตราบใดที่ประเทศที่สองที่คุณถือสัญชาติอนุญาติให้คุณถือสองสัญชาติ

แต่เวลาเดินทางเข้าอเมริกา คุณต้องใช้พาสปอร์ตอเมริกันเข้าอเมริกา เมื่อคุณเดินทางเข้าไทยคุณเลือกใช้พาสปอร์ตอะไรก็ได้ค่ะ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คำแนะนำคือ ถ้าคุณจะอยู่ในเมืองไทยน้อยกว่า 30 วัน คุณใช้พาสปอร์ตอเมริกัน เพราะคุณไม่ต้องทำวีซ่าเข้าไทย และผลดีคือ ถ้าคุณต้องการเคลม VAT คืน (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่สนามบินก่อนออกนอกประเทศ คุณต้องเดินทางเข้าด้วยพาสปอร์ตอเมริกัน ถ้าคุณใช้พาสปอร์ตไทยเข้า คุณไม่สามารถเคลม VAT ได้

เดินทางไปประเทศอื่นใช้พาสปอร์ตอะไร
ถ้าคุณเดินทางไปประเทศอื่น จะใช้พาสปอร์ตอะไรขึ้นอยู่กับว่าคุณไปประเทศอะไร ถ้าคุณไปประเทศยุโรปใช้พาสปอร์ตอเมริกัน เพราะคุณไม่ต้องทำวีซ่า แต่ถ้าคุณจะไปประเทศที่บางประเทศ ถ้าคุณถือพาสปอร์ตไทย คุณไม่ต้องทำวีซ่า แต่ถ้าคุณถือพาสปอร์ตอเมริกัน คุณต้องทำวีซ่า คุณก็ใช้พาสปอร์ตไทย หรือบางประเทศที่ต้องใช้วีซ่าไม่ว่าคุณจะถือพาสปอร์ตไทยหรือพาสปอร์ตอเมริกัน เช่นประเทศจีน ก็แล้วแต่คุณว่าจะเลือกใช้พาสปอร์ตไหน ดิฉันจะใช้พาสปอร์ตไทย เพราะคนจีนชอบคนไทยมากกว่าคนอเมริกัน
ถ้าคุณเดินทางออกไปประเทศอื่นจากเมืองไทย และคุณเข้าเมืองไทยด้วยพาสปอร์ตอเมริกัน คุณสามารถเลือกใช้พาสปอร์ตใดก็ได้ไม่สำคัญค่ะ

source : www.rujirat.com

ชื่อในพาสปอร์ตและใบเขียวต่างกัน

หลายคนที่มีนามสกุลเดิมในพาสปอร์ตไทยและตอนทำใบเขียวอาจเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี (ตามกฎหมายไทยและอเมริกัน คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนามสกุลนะคะ คุณสามารถใช้นามสกุลเดิมได้) ถ้าคุณใช้นามสกุลต่างกันระหว่างพาสปอร์ตและใบเขียว เวลาคุณซื้อตั๋วเครื่องบิน ให้คุณซื้อตั๋วใช้ ชื่อ นามสกุลตามพาสปอร์ตค่ะ ไม่ใช้ชื่อตามใบเขียว เพราะเมื่อคุณเดินทางออกนอกอเมริกา สายการบินจะเช็คชื่อบนตั๋วและชื่อบนพาสปอร์ตให้ตรงกัน จะไม่มีปัญหา ถ้าคุณกังวล คุณสามารถนำสำเนาทะเบียนสมรสติดตัวได้ ถ้ามีปัญหาก็สามารถแสดงทะเบียนสมรสได้ หรือไปให้ทางกงสุลไทย อเม็นด์ (amend) นามสกุลใหม่ลงไปในพาสปอร์ต ตอนคุณเดินทางกลับเข้าอเมริกาทางจะไม่มีปัญหาค่ะ เรื่องชื่อ สกุล ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในอเมริกา

ซื้อตั๋วเครื่องบิน ให้ใส่ชื่อ นามสกุล บนตั๋วตามชื่อในพาสปอร์ต
ตอนเดินทางออกนอกอเมริกา โชว์พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน และใบเขียว สายการบินต้องการเช็คใบเขียวว่าคุณสามารถกลับเข้ามาได้ เพราะคุณซื้อตั๋วไปกลับ ถ้าเจ้าหน้าที่สายการบินถามว่าทำไมนามสกุลไม่เหมือนกัน ก็ตอบว่าพาสปอร์ตใช้นามสกุล maiden name ใบเขียวเป็น married name จะไม่มีปัญหา ส่วนมากไม่ถามเพราะดูจากรูป

ตอนเข้าเมืองไทย โชว์เพียงพาสปอร์ตไทยที่ ต.ม. ไม่ต้องโชว์ใบเขียว
ตอนขาออกจากไทย โชว์พาสปอร์ต ตั๋วเครื่องบิน และใบเขียว สายการบินต้องการเช็คใบเขียวว่าคุณสามารถเข้าอเมริกาได้ ถ้าเจ้าหน้าที่สายการบินถามว่าทำไมนามสกุลไม่เหมือนกัน ก็ตอบอย่างเดิมว่าพาสปอร์ตใช้นามสกุลก่อนแต่ง ใบเขียวใช้นามสกุลสามี
ตอนเข้าอเมริกา โชว์พาสปอร์ต และใบเขียวให้เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นดู ในอเมริกาชื่อและนามสกุลไม่ใช่เรื่องใหญ่ เขาดูหน้าคุณจากรูป และเขามีข้อมูลคุณทั้งหมดอยู่หน้าจอบนคอม

source : www.rujirat.com

ข้อสอบซิติเซ่น


ข้อสอบซิติเซ่นใหม่ เพิ่มความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศ วันหยุดราชการที่สำคัญ และเปลี่ยนวิธีถามคำถามให้เข้าใจง่ายขึ้น มีทั้งหมด 96 ข้อ เวลาสอบสัมภาษณ์เพียง 10 ข้อ คุณต้องตอบถูกเพียง 60% คือ 6 ข้อเท่านั้น ส่วนผู้ที่อายุเกิน 65 ปี และได้ใบเขียวมา 20 ปีขึ้นไป จะใช้ข้อสอบง่ายขึ้น มี 25 ข้อ เวลาสอบสัมภาษณ์เพียง 10 ข้อ คุณต้องตอบถูกเพียง 6 ข้อเท่านั้น และคุณสามารถสอบภาษาไทยคือมีล่ามแปลได้ และไม่ต้องอ่านหรือเขียน

ตัวอย่างคำถามซิติเซ่น
sใครคือประธานาธิบดีหรือ”เพรสสิเด๊นท์”คนปัจจุบัน
sใครคือรองประธานาธิบดี”ไวซ์ เพรสสิเด๊นท์”คนปัจจุบัน
s เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งหมดกี่คน
s ในคองเกรสมีเซเนเต้อร์กี่คน
s ใครเป็นประธานาธิบดีช่วงสงครามกลางเมืองหรือ “ซิวิล วอร์”
s เราโหวดเลือก “เพรสสิเด๊นท์”เดือนอะไร
s เพรสสิเด๊นท์คนใหม่ได้รับสถาปนาเข้ารับตำแหน่ง “อินอ๊อกกิวเรท” (inaugurate) เดือนอะไร
s อเมริกามีพรรคการเมือง “โพลิติเคิล พาร์ตี้” ใหญ่ๆชื่ออะไร
s เพรสสิเด๊นท์รับตำแหน่งครั้งละกี่ปี
s เพรสสิเด๊นท์รับตำแหน่งสูงสุดกี่เเทอม
s บอกชื่อกัฟวันเน่อร์ในรัฐคุณ
s ระบุคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นเพรสสิเด๊นท์ได้
s อายุต่ำสุดที่จะโหวดได้
s เมืองหลวงของอเมริกา(ยู เอ็ส แค๊ปปิตอล) ชื่ออะไร

source : www.rujirat.com

ยื่นเรื่องทำซิติเซ่น

ถ้าคุณอาศัยอยู่รัฐแถบฝั่งตะวันตก, มิดเวสท์, ร็อคกี้เมาน์เท่น, เซาท์เท่อร์น, และเซาท์เวสเท่อร์น คือ Alaska, Arizona, California, Colorado, Guam, Hawaii, Idaho, Illinois, Indiana, Iowa, Kansas, Michigan, Minnesota, Missouri, Montana, Nebraska, Nevada, North Dakota, South Dakota, Ohio, Oregon, Utah, Washington, Wisconsin, Wyoming, Guam, Northern Marina Islands.
คุณต้องส่งเรื่องแอ็พพลายซิติเซ่นไปที่
USCIS Lockbox Facility,
USCIS,P.O. Box 21251
Phoenix, AZ 85036

ส่วนคุณที่อยู่รัฐทางฝั่งตะวันออก, แถบนิวอิงแลนด์, และมิดแอ็ตแลนติค คือ Alabama, Arkansas, Connecticut, Delaware, Florida, Georgia, Kentucky, Louisiana, Maine, Maryland, Massachusetts, Mississippi, New Hampshire, New Jersey, New Mexico, New York, North Carolina, Oklahoma, Pennsylvania, Puerto Rico, Rhode Island, South Carolina, Tennessee, Texas, Vermont, Verginia, U.S. Virgin Islands, West Virginia, Washington D.C.คุณต้องยื่นเรื่องไปที่
USCIS Lockbox Facility,
USCIS,P.O. Box 299026
Lewisville, TX 75029

ทำซิติเซ่น ค่าธรรมเนียมรวมค่าพิมพ์นิ้วมือ $675

source : www.rujirat.com

อยู่ประเทศไทยในฐานะอเมริกันซิติเซ่น

ถ้าโอนสัญชาติทำซิติเซ่นแล้วจะอยู่ประเทศไทย คุณควรจะวางแผนก่อนไปดังนี้ :

i คุณควรเช็คกับคนทำบัญชีของคุณและดูสถานการณ์ทางการเงินของคุณว่าควรทำอย่างไรกับทรัพย์สินและหนี้สินที่นี่ (สังหาและอสังหาริมทรัพย์) เพราะในฐานะที่เป็นอเมริกันซิติเซ่นคุณยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกปี ถึงแม้คุณจะมีรายได้ต่ำและไม่ต้องจ่ายภาษีก็ตาม ขอแนะนำให้คุณติดต่อกับคนทำบัญชีที่ในอเมริกาและให้เขายื่นให้แต่ละปี หรือคุณสามารถขอข้อมูลได้ที่สถานทูตอเมริกันในประเทศไทย คุณควรเช็คกับโซเชียล เซคคิวริตี้ ออฟฟิส ก่อนย้ายไปเมืองไทยเรื่องให้โอนเงินเข้าธนาคารเป็น Direct deposit และเช็คกฎระเบียบโซเชียลในการที่คุณจะย้ายไปอยู่นอกประเทศ ตามกฎคุณต้องแจ้งให้ทางออฟฟิสทราบถ้าคุณออกนอกประเทศเกิน 30 วัน

i คุณควรเก็บเครดิตคาร์ดจากแบ๊งค์ในอเมริกาอย่างน้อยหนึ่งใบ เก็บบัญชีธนาคารอย่างน้อยหนึ่งบัญชีเพื่อไว้จ่ายบิลออนไลน์ เช่นบิลเครดิตคาร์ด ค่าภาษี เป็นต้น และเก็บที่อยู่ในอเมริกา อาจเป็นโพสท์ ออฟฟิส บ็อกส์ ที่ไปรษณีย์ เนื่องจากปลอดภัยที่สุด บัตรเครดิตในอเมริกามีกฎหมายโพรเท็คชั่นผู้บริโภค (consumer protection law) ดีกว่ากฎหมายประเทศไทย ถ้าคุณทำเครดิตคาร์ดของอเมริกาหาย และมีคนอื่นนำไปรูดใช้ คุณรับผิดชอบจำนวนเงินสูงสุด $50 แต่ภายใต้กฎหมายไทยไม่มี protection คุณควรเลือกบัตรเครดิตที่ไม่ชาร์จค่าเซอร์วิสอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อคุณใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ (ดิฉันใช้ Capital One Master Card ซึ่งไม่ชาร์จ fee) ส่วนบัญชีธนาคาร ดิฉันชอบแบ๊งค์ออฟอเมริกา Bank of America เพราะมีสาขาในเมืองไทยและปลอดภัยเมื่อจ่ายบิลออนไลน์และยังใช้ง่าย (user friendly) อีกด้วย คุณควรเก็บบัญชีธนาคารและเครดิตคาร์ดอย่างน้อยหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น จนกว่าคุณจะแน่ใจว่า คุณตัดสายใยกับอเมริกาและไม่กลับมาอีก

i เมื่อพาสปอร์ตอเมริกันหมดอายุ คุณสามารถต่อพาสปอร์ตอเมริกันได้ที่สถานทูตอเมริกันในประเทศไทย ระหว่างอยู่เมืองไทย คุณสามารถใช้เซอร์วิสของกงสุลอเมริกันได้ เช่นต้องการทำโนตารี่ ต่อพาสปอร์ต ออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น โดยคุณไม่ต้องเข้าแถวรอนาน โดยเข้าไปด้านเซอร์วิสสำหรับอเมริกันซิติเซ่น ซึ่งมีเวลาทำการโดยเฉพาะ

i คุณควรขึ้นทะเบียนกับกงสุลอเมริกัน โดยให้ที่อยู่ในประเทศไทย โปรดเช็คเข้าไปใน website กงสุล click และคอยอ่านข่าวสารต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์มาก ถ้ามีภัยอันตรายใดๆกับคนอเมริกัน ทางกงสุลจะแจ้งไปที่อีเมล์ของคุณ

i ขอให้คุณยังคงบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ถ้าคุณที่แต่งงานกับฝรั่งและใช้นามสกุลตามสามี ดิฉันขอแนะนำว่าให้คงใช้นามสกุลไทยตามเดิม เพื่อจะได้ไม่ลำบากในการเป็นเจ้าของที่ดิน และถ้าคุณจดทะเบียนสมรสกับสามีฝรั่งในอเมริกา ขอแนะนำว่าไม่ต้องไปจดทะเบียนในประเทศไทยซ้ำ เพราะการสมรสในอเมริกานั้นถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในประเทศไทยจะไม่มีข้อมูลเท่ากับว่าคุณสามารถคงใช้นางสาวและนามสกุลไทยต่อไปโดยไม่ต้องไปเปลี่ยน ผลดีคือคุณจะสามารถทำนิติกรรมต่างๆได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอคำยินยอมจากสามี กฎหมายไทยไม่ให้สิทธิหญิงไทยที่มีสามีทำนิติกรรมด้วยตนเองถ้าคุณได้จดทะเบียนกับสามีฝรั่งในเมืองไทยแล้ว ขอแนะนำให้คุณยังคงใช้นามสกุลไทยตนเองในใบขับขี่ บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน เพื่อถ้าคุณถูกใบสั่งหรือต้องไปติดต่อสำนักงานราชการ จะได้ไม่โดนเจ้าหน้าที่เลิกคิ้วเงยหน้าขึ้นมามองหน้าคุณอีกครั้งหนึ่ง

i ถ้าคุณใช้พาสปอร์ตอเมริกันเข้าประเทศไทย คุณสามารถทำวีซ่าอยู่ในประเทศไทยได้หนึ่งปีในฐานะที่เป็นคนไทย แต่ถ้าคุณเข้าประเทศไทยด้วยพาสปอร์ตไทย และอยู่ในประเทศไทยฐานเป็นคนไทย คุณก็ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายเรื่องวีซ่า คุณไม่จำเป็นต้องประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่าคุณเป็นอเมริกันซิติเซ่น เก็บอเมริกันพาสปอร์ตในที่ปลอดภัย ถ่ายสำเนาพาสปอร์ตเก็บไว้

สูญสัญชาติไทยหรือไม่
ตามกฎหมายอเมริกัน คุณสามารถถือสองสัญชาติได้ ตราบใดที่กฎหมายประเทศที่สองนั้นยอมรับสองสัญชาติ สรุปคุณถือสองสัญชาติตามกฎหมายอเมริกันได้ และถือสองพาสปอร์ตอเมริกันและไทยได้ไม่ผิด ส่วนกฎหมายไทยตามกฎรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับสองสัญชาติ แต่การสูญสัญชาติไม่ได้เกิดขึ้นโดยปริยายหรือโดยอัตโนมัติ คุณต้องไปยื่นเรื่องขอสละสัญชาติ ซึ่งในแง่ปฏิบัติ ดิฉันว่าไม่มีใครที่จะไปทำ และตามประสบการณ์ของดิฉัน เจ้าหน้าที่ ต.ม. ก็ไม่สนที่คุณจะถือสองพาสปอร์ตการได้อเมริกันซิติเซ่น ได้ผลประโยชน์มากกว่าเสีย

source : www.rujirat.com

ซิติเซ่น..ซิติเซ่น..ซิติเซ่น



ทำซิติเซ่นดีหรือไม่? Add Image
ควรทำซิติเซ่นดีไหม ? เพราะในอนาคตต้องการย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย ??

จุดนี้ควรเป็นเหตุผลใหญ่ที่คุณควรต้องทำซิติเซ่น เพราะถ้าคุณย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย คุณจะสูญใบเขียวและหมดโอกาสที่จะได้ทำซิติเซ่นเพราะกว่าคุณจะขอใบเขียวใหม่และต้องอยู่ใน อเมริกาอีก 3-5 ปี กว่าจะทำซิติเซ่นได้ไม่ใช่ของง่ายโดยเฉพาะกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเข้มงวดขึ้นไม่ใช่จะง่าย และเมื่อคุณถึงอายุรีไทร์เม๊นท์ คุณก็คงไม่อยากมาทนอยู่ในอเมริกา 3- 5 ปีเพื่อรอทำซิติเซ่น เพราะถ้าคุณได้อเมริกันซิติเซ่นคุณสามารถอยู่เมืองไทยได้ตลอด โดยไม่ต้องเทียวไปเทียวมา และเมื่อไรที่คุณต้องการกลับอเมริกา คุณสามารถกลับได้ทุกเมื่อ และ ณ.เวลานี้ ถ้าคุณยื่นเรื่องทำซิติเซ่น ใช้เวลาเร็วมากประมาณ 4 เดือน อย่าลืมว่าการได้ใบเขียวไม่ได้มาง่ายๆ เมื่อได้แล้วก็ไม่น่าจะยอมสูญมันง่ายๆ ถ้ามีโอกาสควรจะยื่นเรื่องทำซิติเซ่นทันที
Check Spelling

ข้อดีของการเป็นอเมริกันซิติเซ่น
เมื่อคุณเป็นซิติเซ่น คุณสามารถเลือกอยู่ที่ไหนได้ทั่วโลก โดยไม่มีการเสียสิทธิ สวัสดิการ หรือสูญซิติเซ่นชิป ฉะนั้นถ้าคุณย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย คุณสามารถอยู่ในเมืองไทยไปตลอดชีวิตโดยไม่ต้องกลับเข้าอเมริกาเลยได้ หรืออยากกลับเมื่อไรก็กลับได้ ถ้าคุณได้รับเงินโซเชียลเมื่อแก่ คุณยังได้รับอยู่ถึงแม้คุณจะย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย และนอกจากนี้ถ้าเกิดคุณเจ็บป่วยหนักต้องกลับมารับการรักษาพยาบาล หรือต้องการอวัยวะต่างๆ คุณมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล สวัสดิการเม็ดดิแคร์ต่างๆในอเมริกาได้ เมื่อคุณเป็นซิติเซ่น คุณจะถืออเมริกันพาสปอร์ต (และในขณะเดียวกันคุณยังเก็บพาสปอร์ตไทย) ถ้าคุณชอบเที่ยวอย่างดิฉัน คุณสามารถเดินทางเข้าได้เกือบทุกประเทศทั่วโลกด้วยอเมริกันพาสปอร์ตโดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ถ้าคุณถือพาสปอร์ตไทย คุณต้องเสียเวลาทำวีซ่าเข้าประเทศ

source : http://www.rujirat.com/