complexplaza

14.11.08

ค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียม
ใบเขียวแต่งงานกับซิติเซ่น ในอเมริกาเรียก “แอ้ดจัสทเม๊นท์ ออฟ สแตตัส” (Adjustment of Status) ค่าธรรมเนียม $1,365 รวมค่าพิมพ์นิ้วมือ เวิ็ร์ค เพอร์มิท (Work Permit) และ แอ้ดวานซ์ พาโรล (Advance Parole) คือใบเดินทาง สำหรับเดินทางออกนอกประเทศระหว่างคอยใบเขียว ใช้ได้เฉพาะผู้ที่วีซ่ายังไม่ขาดตอนยื่นเรื่อง ถ้าคุณอยู่เถื่อนแล้วใช้ไม่ได้ เพราะคุณห้ามออกนอกประเทศ จนได้ใบเขียวไม่อย่างนั้นถ้าคุณเดินทางออก คุณไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้


ใบเขียวให้ลูกติด ยื่นพร้อมกับใบเขียวแต่งงานของพ่อหรือแม่ ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี $955 ถ้าเด็กอายุเกิน 14 ปี ค่าธรรมเนียมเท่าของพ่อ แม่ คือ $1,365

ใบเขียวซิติเซ่นยื่นให้ พ่อ หรือ แม่ ค่าธรรมเนียม $1,365 รวมค่าพิมพ์นิ้วมือ เวิ็ร์ค เพอร์มิท (Work Permit) และ แอ้ดวานซ์ พาโรล (Advance Parole) ถ้าพ่อ หรือแม่ อายุ 79 ปีขึ้นไป ค่าธรรมเนียมลดลงเป็น $1,285

ผู้ที่ได้ใบเขียวแต่งงานชั่วคราวสองปี ต้องยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวร 10 ปีค่าธรรมเนียมใหม่ $545 รวมค่าพิมพ์นิ้วมือ ถ้ามีลูกติดและเด็กได้ใบเขียวสองปีพร้อมพ่อแม่ คุณสามารถยื่นเรื่องของลูกพร้อมคุณ เพียงเสียค่าพิมพ์นิ้วมือคนละ $80

ทำซิติเซ่น ค่าธรรมเนียมใหม่รวมค่าพิมพ์นิ้วมือ $675

ค่าขอเซอร์ติฟิเคทซิติเซ่นชิปสำหรับเด็กที่ได้ซิติเซ่นชิปโดยอัตโนมัติตามพ่อหรือแม่ ค่าธรรมเนียม $460

ค่าต่ออายุใบเขียวทุก 10 ปี ค่าธรรมเนียมใหม่รวมค่าพิมพ์นิ้วมือ $370

ค่าทำรีเอ็นทรี่ เพอร์มิท (Reentry Permit) สำหรับผู้ถือ ใบเขียว ต้องการขอออกนอกประเทศเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ค่าธรรมเนียมใหม่ $305

ทำใบเขียวคนงาน ค่าธรรมเนียม $475 และเมื่อเรื่องผ่าน $1,010 รวมเป็น $1,485

ค่าทำใบเขียวแต่งงานให้คู่สมรสที่อยู่เมืองไทย $355 เมื่อเรื่องแอ็พพรูฟจึงยื่นเรื่องไปที่แนชั่นแนลวีซ่าเซ็นเตอร์ปัจจุบันค่าธรรมเนียม $480 แต่ค่าธรรมเนียมคงจะขึ้นเร็วๆนี้

click to link

source : http://www.rujirat.com/

สวัสดิการสังคม

สวัสดิการสังคม
ตามกฎอิมมิเกรชั่น คุณสามารถขอใช้สวัสดิการสังคมหลังจากคุณได้ใบเขียว 5 ปีขึ้นไป

สวัสดิการสังคมแยกเป็นสองโปรแกรมคือ
(1) สวัสดิการสังคมของรัฐบาลกลาง และ
(2) สวัสดิการสังคมของรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละรัฐจะกำหนด

ที่นี้จะกล่าวถึงแต่สวัสดิการสังคมของรัฐบาลกลางเท่านั้น

ถ้าคุณไปใช้สวัสดิการสังคมของรัฐบาลกลาง “เพอร์ทิชันเน่อร์”หรือสปอนเซ่อร์อาจต้องใช้เงินคืนให้รัฐบาลถ้าถูกเรียกทวง คือ Food Stamps, Medicaid, Supplemental Security Income (SSI), Temporary Assistance for Needy Families, และ the State Child Health Insurance Program.

ส่วนสวัสดิการที่ไม่รวม คือถ้าคุณไปใช้สวัสดิการเหล่านี้ “เพอร์ทิชันเน่อร์” หรือสปอนเซ่อร์ไม่ต้องชดใช้คือ Emergency Medicaid; short-term, non-cash emergency relief; services provided under the National School Lunch and Child Nutrition Acts; immunization and testing for communicable disease; student assistance under the Higher Education Act and Public Health Service Act; certain forms of foster care or adoption assistance under the Social Security Act; Head Start Programs, programs under the Elementary and Secondary Education Act; and Job training Partnership Act programs.

source : http://www.rujirat.com/

Affidavit of Supprt (2)

สปอนเซ่อร์รายได้ไม่พอ
ถ้ารายได้สปอนเซ่อร์ในใบแจ้งภาษีแสดงรายได้ไม่พอ มีวิธีช่วย 5 วิธีคือ
1. สปอนเซ่อร์สามารถแสดงภาษีย้อนหลัง 3 ปี ถ้าถัวเฉลี่ยทั้ง 3 ปี เกินจำนวนรายได้ขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด กรณีนี้ใช้ได้ถ้าสปอนเซ่อร์มีงานทำและมีรายได้ปัจจุบันดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว อย่าลืมว่ารายได้ปัจจุบันสำคัญกว่ารายได้ในอดีต บางครั้งถ้าสปอนเซ่อร์ตกงานมาก่อนแต่ปัจจุบันมีงานดี ถ้าเขียนจดหมายอธิบายให้อิมมิเกรชั่นฟังบางครั้งได้ผล

2. รวมรายได้สองคนของสปอนเซ่อร์และตัวคุณ ถ้าคุณทำงาน

3. รวมรายได้ของสปอนเซ่อร์และสมาชิกในครอบครัวคนอื่นที่อยู่บ้านเดียวกัน ต้องเป็นซิติเซ่นหรือถือใบเขียว กรณีนี้นำรายได้ของสมาชิกแต่ละคนมาบวกสมทบรวมกันให้ครบจำนวน

4. จอนท์สปอนเซ่อร์ (Joint sponsor) หรือผู้ช่วยเซ็นค้ำประกัน อาจเป็นคนรู้จักอื่นๆอาจเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง เขาต้องมีรายได้บนภาษีดี และต้องเป็นซิติเซ่นหรือถือใบเขียว กรณีต่างกับสมาชิกในครอบครัวข้างต้นคือ รายได้ไม่มารวมสมทบกับสปอนเซ่อร์ แต่เขาต้องมีรายได้โดดเดี่ยวด้วยตนเองเกินจำนวนที่รัฐบาลกำหนด

5. ถ้าสปอนเซ่อร์มีรายได้ไม่พอ แต่มีทรัพย์สินมาก เขาสามารถแสดงมูลค่าของทรัพย์สินได้ โดยทรัพย์สินต้องมีมูลค่ามากกว่ากำหนดรายได้ขั้นต่ำ 3 เท่า

สปอนเซ่อร์หมดภาระรับผิดชอบเมื่อไร
สปอนเซ่อร์และจอย์นท์ สปอนเซ่อร์เมื่อเซ็นแอฟฟิเดวิท ออฟ ซัพพอร์ท รับรองจะหมดภาระความรับผิดชอบคุณต่อเมื่อ
1. คุณทำงานและมีรายได้ จ่ายภาษีอย่างถูกต้องครบ 10 ปี หรือ 40 ไตรมาศ รวมก่อนและหลังได้ใบเขียว รายได้ไม่จำกัดจำนวน
2. เมื่อคุณเป็นอเมริกันซิติเซ่น
3. เมื่อคุณตาย
4. เมื่อคุณสละใบเขียว

ถ้าสปอนเซ่อร์ไม่ยื่นภาษี
ถ้าสปอน เซ่อร์ไม่ยื่นภาษี อันนี้ลำบากหน่อย เพราะอเมริกันซิติเซ่นทุกคนมีหน้าที่ยื่นภาษี ถ้าไม่ยื่นต้องให้เหตุผล ดิฉันมักแนะนำให้ลูกความยื่นภาษีย้อนหลังสามปี ถึงแม้ว่าจะรายได้น้อยก็ตาม การยื่นภาษีไม่หมายความว่าคุณต้องจ่ายภาษีเสมอไป เพราะถ้ารายได้คุณต่ำ คุณอาจไม่ต้องเสียภาษีก็ได้

ทรัพย์สินของสปอนเซ่อร์
“เพอร์ทิชันเน่อร์”หรือสปอนเซ่อร์ที่มีรายได้ไม่พอ แต่มีทรัพย์สินเรียก “แอสเส็ท” (Assets) เช่นบ้าน รถ สามารถนำมูลค่าทรัพย์สินมาใช้คำนวณบวกกับรายได้ที่ขาดได้ ตัวอย่าง “เพอร์ทิชันเน่อร์” มีรายได้ 10,000 ต่อปี และยังขาดอีก $6,500 เขาจะต้องมีทรัพย์สินมูลค่าอีก $19,500 ($6,500 x 3) ก็จะสามารถเซ็นซัพพอร์ทด้วยตนเองได้

Joint Sponsor“จอยนท์ สปอนเซ่อร์”
คือคนที่สามารถมาเซ็นร่วม คล้ายๆมาช่วยเซ็นค้ำ ในกรณีที่รายได้ของ “เพอร์ทิชันเน่อร์”ไม่พอและไม่มี “แอสเส็ท” “จอยนท์ สปอนเซ่อร์” ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องอาจเป็นคนอื่นได้ แต่ต้องเป็นซิติเซ่นหรือถือใบเขียว และเขาต้องมีรายได้สูงเกินรายได้ขั้นต่ำด้วยตนเอง หมายความว่าเขาไม่สามารถเอารายได้ของเขามาบวกกับรายได้ของ “เพอร์ทิชันเน่อร์” ที่ขาด

Household Member“เฮาส์โฮลด์เม็มเบอร์”
ต่างกับ“จอยนท์ สปอนเซ่อร์” คือ“เฮาส์โฮลด์เม็มเบอร์” เป็นสมาชิกในครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกันกับ “เพอร์ทิชันเน่อร์”หรือสปอนเซ่อร์ เขาสามารถช่วยเซ็นซัพพอร์ทร่วมกับตัว“เพอร์ทิชันเน่อร์” ได้ โดยบวกรายได้ของตัวเองกับรายได้ของ “เพอร์ทิชันเน่อร์” ถึงแม้เขาจะยื่นภาษีต่างหากของเขาเอง ซึ่งต่างกับ“จอยนท์ สปอนเซ่อร์”ที่ไม่สามารถบวกรายได้ร่วมกับรายได้ของ“เพอร์ทิชันเน่อร์”

รายได้ของผู้ได้ใบเขียว
ในกรณีที่ตัวผู้รับใบเขียวทำงานและจ่ายภาษี ถึงแม้คุณจะทำงานเถื่อนก็ตาม และคุณอยู่บ้านเดียวกับ “เพอร์ทิชันเน่อร์” คุณถือเป็นสมาชิกในครอบครัว (Household Member) คุณสามารถคำนวณรายได้ของคุณรวมกับรายได้ของ“เพอร์ทิชันเน่อร์”ถ้ารายได้ของ “เพอร์ทิชันเน่อร์” คนเดียวไม่พอ

source : http://www.rujirat.com/

Affidavit of Supprt

Affidavit of Supprt แอฟฟิเดวิท ออฟ ซัพพอร์ท หลายคนเรียกย่อๆว่า เซ็น “ซัพพอร์ท” ใช้ในอิมมิเกรชั่น สำหรับเคสทำใบเขียวครอบครัว และเคสใบเขียวนายจ้างเฉพาะกรณีที่นายจ้าง และลูกจ้างเป็นญาติพี่น้องกัน

เมื่อซิติเซ่นหรือผู้ถือใบเขียวยื่นเรื่อง เรียก “เพอทิชันเน่อร์” (Petitioner) ทำใบเขียวให้ครอบครัว รวมคู่สมรส ลูก พ่อ แม่ และพี่ น้อง ตัวซิติเซ่นสปอนเซ่อร์ต้องเซ็นรับรองว่าเขามีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูหรือ “ซัพพอร์ท” (support) คุณได้ คุณคือผู้รับผลประโยชน์หรือ “เบเนฟิเชียรี่” (Beneficiary) เพื่อคุณจะไม่ไปเป็นภาระสังคม กินเงินรัฐบาลหรือใช้ประโยชน์หรือ “เบเนฟิต” (benefits) ต่างๆจากระบบประกันสังคมรัฐบาลหรือ “เวลแฟร์” (welfare)

ตัวซิติเซ่นต้องมี่รายได้อย่างน้อย 125% ของรายได้ขั้นต่ำต่อปี (Poverty Guideline) ตามที่รัฐบาลกำหนด ยกเว้นถ้าสปอนเซ่อร์เป็นทหารต้องแสดงรายได้เพียง 100% ของรายได้ขั้นต่ำ ถ้าตัวซิติเซ่นมีรายได้ไม่พอ เขาจำเป็นต้องหาคนอื่นที่มีรายได้ดีช่วยเซ็นเป็น “จ๊อยนท์ สปอนเซ่อร์” ด้วย

สปอนเซ่อร์ต้องแสดงภาษีปีล่าสุด , ก็อปปี้เพย์โรล 6 เดือนย้อนหลัง และ จดหมายรับรองจากนายจ้าง ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจหรือทำงานส่วนตัว ต้องแสดงเพิ่มคือ ทะเบียนการค้าหรือ business license กรณีที่สปอนเซ่อร์มีรายได้ไม่พอ แต่มีทรัพย์สินมาก เขาสามารถแสดงทรัพย์สินได้ โดยทรัพย์สินต้องมีมูลค่ามากกว่ากำหนดรายได้ขั้นต่ำ 3 เท่า

ตัวอย่าง ตามกฎรายได้ขั้นต่ำของสมาชิกในครอบครัว 2 คนต้องมีอย่างต่ำ $18,213 ต่อปี หมายความว่าทรัพย์สินต้องมีมูลค่ามากกว่า $54,639 ($18,213 x 3) นอกจากนี้กรณีที่ตัวคนทำใบเขียวเองได้ทำงานเสียภาษีมา 40 ควอร์เต้อร์ หรือ 10 ปี ไม่จำเป็นต้องมีสปอนเซ่อร์เซ็น

เอกสารยื่นพร้อม “แอฟฟิเดวิท ออฟ ซัพพอร์ท”
* ภาษีรายได้รัฐบาลกลางหรือ “เฟดเดอรัล อินคัมแท็กส์ รีเทอร์น” (Federal income tax returns) ของปีล่าสุดรวมทั้ง W-2 Forms หรือ 1099 และใบประกอบการค้าหรือ Business License ถ้ามีธุรกิจส่วนตัว คุณไม่ต้องแสดงภาษีของรัฐ (คนอเมริกันต้องเสียภาษีให้ทั้งรัฐบาลกลางรัฐที่ตนอยู่)
* ใบรับรองการทำงาน (Verification of employment)หรือ/และ
* สำเนาหางเช็คจากที่ทำงาน 6 เดือน
* สำเนาใบเขียวหรือเอกสารแสดงว่าเป็นซิติเซ่น

วิธีนับจำนวนสมาชิกในครอบครัว
วิธีนับจำนวนสมาชิกในครอบครัว คือเริ่มด้วยสองคน คือตัวสปอนเซ่อร์และคุณ และบวกสมาชิกในครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกัน ส่วนมากจะเป็นบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

วิธีดูๆได้จากภาษีว่าตัวสปอนเซ่อร์หักภาษีกี่คน ปัญหาที่พบบ่อยๆคือ บางครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวคนไทยที่ชอบนำชื่อญาติพี่น้องหลานมาแจ้งหักภาษีเพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อย ซึ่งทำไม่ถูกนอกจากจะถูก “ออดิท”
(audit) จ่ายเงินคืนรัฐบาลภายหลังบวกดอกเบี้ยแล้ว ยังเป็นปัญหาตอนยื่นเรื่องขอใบเขียวให้คู่สมรส โดยต้องแสดงรายได้มากขึ้น

รายได้ขั้นต่ำ125% ของปี 2009 คือ
สมาชิกในครอบครัว 2 คนต่อปี $18,213
สมาชิกในครอบครัว 3 คนต่อปี $22,888
สมาชิกในครอบครัว 4 คนต่อปี $27,563
สมาชิกในครอบครัว 5 คนต่อปี $32,238

(เริ่มใช้ 1 มีนาคม 2009 )

ทุกรัฐยกเว้นรัฐอลาสก้าและฮาวายอิซึ่งจะสูงกว่านี้เนื่องจากสองรัฐนี้มีค่าครองชีพสูง คุณสามารถเช็คจำนวนรายได้นี้ได้ในเว๊บไซท์ของรัฐบาล www.uscis.gov และคลิคเข้าไปที่ Poverty Guidelines

source : http://www.rujirat.com/

เคสแอ็พพรูฟหมายความว่าอย่างไร

เมื่อคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวครอบครัว คุณจะตกอยู่ 2 กรุ๊บ คือ กรุ๊บ “อิมมีเดียท เรเลทีฟ” (Immediate
Relative) คือ ใบเขียวแต่งงานกับซิติเซ่น ใบเขียวที่ซิติเซ่นขอให้พ่อ/แม่ ใบเขียวที่ซิติเซ่นขอให้ลูกของตนเองที่อายุต่ำกว่า 21 ปี และ ใบเขียวที่ซิติเซ่นยื่นให้ลูกติดของคู่สมรสตราบใดที่ซิติเซ่นจดทะเบียนกับพ่อหรือแม่เด็กก่อนเด็กอายุ 18 ปี และแอฝ้พพลายให้เด็กก่อนเด็กอายุ 21 ปี ไม่จัดอยู่ในโควต้าเมื่อคุณได้รับใบแอ้พพรูฟ หมายความว่าอีกไม่กี่เดือนก็จะได้เรียกสัมภาษณ์และได้ใบเขียว


ส่วนอีกกรุ๊บหนึ่งเรียกกรุ๊บ “เพร็ฟเฟอเร็นซ์” (Preference) แบ่งเป็นใบเขียว 4 ชนิด คือ
กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์หนึ่ง คือกรุ๊บลูกของซิติเซ่นที่อายุเกิน 21 ปีแต่ยังไม่แต่งงาน จำนวนใบเขียว 23,400 ต่อปีทั่วโลก ปัจจุบันใช้เวลาเกือบ 6 ปี
กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์สอง A คือ กรุ๊บคู่สมรสของใบเขียวหรือลูกของใบเขียวที่อายุต่ำกว่า 21 ปีที่ยังไม่แต่งงาน ปัจจุบันใช้เวลาเกือบ 7 ปี จำนวนใบเขียว 23,400 ต่อปีทั่วโลก
กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์สอง B คือลูกของใบเขียวที่อายุเกิน 21 ปีที่ยังไม่แต่งงาน จำนวนใบเขียว 26,266 ต่อปีทั่วโลก ปัจจุบันใช้เวลาเกือบ 9 ปี (ผู้ถือใบเขียวไม่สามารถแอ็พพลายใบเขียวให้พ่อ หรือแม่ หรือลูกที่แต่งงานแล้วได้)
กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์สามคือ กรุ๊บใบเขียวของลูกซิติเซ่นที่แต่งงานแล้ว จำนวนใบเขียว 23,400 ต่อปีทั่วโลก ปัจจุบันใช้เวลา 8 ปี
กรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์สี่ กรุ๊บสุดท้ายคือกรุ๊บใบเขียวของพี่น้องของซิติเซ่น จำนวนใบเขียว 65,000 ต่อปีทั่วโลก ใช้เวลาคอยนานที่สุดคือ 11 ปี
(หมายเหตุ: จำนวนโควต้าข้างล่างนี้เป็นโควต้าปี 1990)

ฉะนั้นเมื่อคุณได้รับจดหมายจากอิมมิเกรชั่นว่าเคสแอ็พพรูฟหรือผ่านแล้ว ไม่ได้หมายความว่า คุณจะได้ใบเขียวเร็ว คุณยังต้องคอยไปอีกจนกว่าโควต้าจะมาถึง


วิธีเช็คเคสจากอิมมิเกรชั่นทำดังนี้

1. ก่อนอื่นให้ ดูวันที่ บนใบแอ็พพรูฟของคุณก่อน จะมีวันที่ใต้ Notice date อยู่ซ้ายมือบนสุด วันนั้นเรียกวัน “พรายออริตี้เดท” (Priority date) ของคุณ


2. คุณสามารถเช็ค “พรายออริตี้ เดท” ว่าคุณต้องคอยนานอีกเท่าไรถึงจะได้ใบเขียวจากเว๊บไซท์ คุณ


คลิกเข้าไปที่ http://travel.state.gov/visa/frvi/bulletin/bulletin_4384.html และคลิก current bulletin และ scroll down ไปถึงตารางแรก เขียนว่า Family และถัดไปเขียน All Chargeability Areas Except Those Listed ตรงช่อง Family จะแบ่งเป็นกรุ๊บเพร็ฟเฟอเร็นซ์ 1st; 2A, 2B,3rd, 4th กรุ๊บ 1st และถัดไปตรง All Chargeability Areas Except Those Listed เป็นวันที่ (click)



วิธีอ่านคือ ดูว่าเคสของคุณอยู่ในกรุ๊บไหน และดูวันที่ ตัวอย่าง เคสอยู่กรุ๊บ 4 หรือ 4th ตรงกับวันที่ 01 Jan 1998 หมายความว่า ขณะนี้อิมมเกรชั่นกำลัง
“พรอเซ็ส” เคสที่ยื่นเดือน Jan 98 หรือเคสที่
พรายออริตี้ เดท 1 Jan 1998







เรื่องผ่านแต่ไม่ได้ใบเขียว
ถ้าคุณยื่นเรื่องขอใบเขียว ผ่านเรียบร้อย โดยคุณได้รับโนติสว่าเคสผ่าน หรือ “แอ็พพรูฟเวิล โนติส”
(approval notice)และจดหมายต้อนรับคุณเขียนว่า “Welcome to the United States” แสดงว่าเรื่องคุณผ่านและคุณไม่ได้ใบเขียว ระหว่างที่คุณพยายามตามใบเขียว (จนเหนื่อย) คุณสามารถนำพาสปอร์ตพร้อมหลักฐานจดหมายข้างต้นไปที่อิมมิเกรชั่น ออฟฟิสที่คุณสัมภาษณ์ ขอให้เขาแสตมป์อิมมิแกรนท์วีซ่าให้คุณเรียก I-551 แสตมป์ ส่วนมากจะให้ 1 ปี คุณสามารถใช้แสตมป์ I-1551 นี้เดินทางเข้าออกประเทศ ขอนัมเบอร์โซเชียล และทำงานได้ ใช้เช่นเดียวกับใบเขียว

ถ้าหนึ่งปีผ่านไป คุณยังไม่ได้ใบเขียว คุณสามารถนำพาสปอร์ตไปให้เขา แสตมป์ต่อใหม่ได้ โดยนำหลักฐานเดิมไปให้ดู และถ้าคุณได้ใบเขียวสองปี คุณยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปีได้ตามปกติโดยแสดงฟอร์ม I-551 ตอนยื่นเรื่อง และคุณใช้ฟอร์ม I-551 แสตมป์แสดงตอนทำเรื่อง ซิติเซ่นได้เช่นกัน

source : http://www.rujirat.com/

ยื่นใบเขียว สัมภาษณ์ที่ไหน

เมื่อคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวครอบครัวทุกกรุ๊บ คุณต้องถูกสัมภาษณ์ ทางอิมมิเกรชั่นจะดูจากที่อยู่ และรหัส ไปรษณ์ย์ของผู้ยื่นเรื่อง และให้คุณไปสัมภาษณ์ที่ออฟฟิสที่ครอบคลุมเขตนั้นๆ ถ้าคุณอยู่เมืองไทยและเรื่องยื่นเข้าสถานทูต คุณต้องไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตอเมริกันในกรุงเทพ เพราะกงสุลอเมริกันในเชียงใหม่ทำเรื่องสัมภาษณ์วีซ่าเท่านั้น ไม่สัมภาษณ์เรื่องใบเขียว แต่ถ้าคุณอยู่ในอเมริกา คุณจะไปสัมภาษณ์ที่ออฟฟิส
อิมมิเกรชั่นที่ใกล้บ้านผู้รับใบเขียวมากที่สุด

ทำใบเขียวแต่งงานอยู่คนละบ้าน
ในกรณีที่เป็นใบเขียวแต่งงาน ถ้าคุณและคู่สมรสอยู่คนละเมือง อันนี้อาจเป็นปัญหาเพราะอิมมิเกรชั่น จะตั้งข้อสงสัยว่าคุณแต่งงานจริงและอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาหรือไม่แต่ไม่ได้หมายความว่าเคสจะไม่ผ่าน การที่สามีภรรยามีที่อยู่สองแห่งปัจจุบันไม่ใช่ของแปลก อาจเป็นเพราะตำแหน่งหน้าที่การงาน หรืออาจมีหรือความจำเป็นบางอย่าง ตราบใดที่คุณเตรียมเรื่องและสามารถให้เหตุผลถึงความจำเป็น ที่ต้องแยกที่อยู่ได้ ในแง่ศัพท์กฎหมายคำว่า “ที่อยู่” หรือ “บ้าน” มีความหมายต่างกัน เช่น คำว่า เรสสิเด๊นท์ (resident) คือถิ่นฐานที่อยู่ ดอมิไซล์(domicile) คือภูมิลำเนา โฮม (home) คือบ้านของคุณ หรือ เฮาส์(house) คือบ้านทั่วไปความหมายไม่ลึกซึ้งเท่าโฮม เป็นต้น สำหรับทนายความ ดิฉันตีความหมายไม่เหมือนกัน คนเราอาจมีถิ่นฐานที่อยู่สองแห่ง

ตัวอย่าง คนที่อยู่อเมริกา 6 เดือน อยู่เมืองไทย 6 เดือน เท่ากับมีสองเรสสิเด๊นท์ และคนที่ตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาเท่ากับมีภูมิลำเนาหรือ “ดอมิไซล์” อยู่ในอเมริกา สามี ภรรยาอยู่คนละบ้านหรือคนละอพาร์ทเม๊นท์ เนื่องจากที่ทำงานอยู่ไกล ถือว่ามีที่อยู่หรือมีเฮาส์สองหลัง แต่โฮมของคุณทั้งสองจะมีหลังเดียว คือจะเป็นบ้านที่อยู่ถาวรของคุณทั้งสอง ฝรั่งมีคำพังเพยว่า A home is your castle คือ บ้านคือปราสาทของคุณ หรือ A home is where you hang your hat. คือ บ้านคือที่ๆคุณแขวนหมวก สรุปได้ว่า ถ้าสามีภรรยาถึงแม้จะอยู่กันคนละที่ แต่จะมีที่หนึ่งที่คุณถือว่าเป็นบ้านของคุณทั้งสอง เป็นที่ๆคุณจะมาเจอกันในวันเสาร์อาทิตย์ หรือเป็นที่อยู่ที่คุณมีจดหมายส่งมาถึง เป็นต้น ที่นั้นคือที่อยู่ถาวร เมื่อเรากำหนดได้ว่าที่ไหนคือบ้าน แนะนำให้คุณใช้ที่อยู่นั้นเป็นที่ๆอิมมิเกรชั่นส่งเอกสารมาให้ และคุณจะได้ไปสัมภาษณ์ออฟฟิสอิมมิเกรชั่นที่ใกล้บ้านนั้น

source : www.rujirat.com

เคสขอใบเขียวในอเมริกาไม่ผ่าน อาจถูกส่งกลับ

หลัง 1 ตุลาคม 2006 กรณีที่เคสขอใบเขียวในอเมริกาไม่ผ่าน (เคสเปลี่ยนสถานภาพ หรือ Adjustment of
Status รวมขอใบเขียวแต่งงาน ใบเขียวครอบครัวและใบเขียวแรงงาน เป็นต้น) เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องส่ง โนติสแจ้งผู้ยื่นเรื่องว่าไม่ผ่านและแนบจดหมายแจ้งให้ไปปรากฏตัวที่ศาลอิมมิเกรชั่นทันที (Notice to
Appear) และ ผู้นั้นจะถูกดำเนินเรื่องส่งกลับและไม่สามารถรับอาสากลับเอง หรือเปลี่ยนทำเคสอื่น หรือขอคงไว้ซึ่งวีซ่าเดิม

ก่อนหน้านี้ ถ้าคุณทำเรื่องใบเขียวไม่ผ่าน จะใช้เวลากว่าจะดำเนินเรื่องขับไล่ คุณมีเวลาที่จะรับอาสาเดินทางออกนอกประเทศได้เอง หรืออาจมีเวลาแต่งงานกับซิติเซ่นและทำใบเขียว หรือหย่าและแต่งใหม่ทัน หรืออาจขอเปลี่ยนเป็นวีซ่าอื่นในกรณีที่วีซ่ายังไม่ขาด หรือยังคงไว้ซึ่งวีซ่าเดิม เช่น คนถือวีซ่าท่องเที่ยว ทำใบเขียวแต่งงานไม่ผ่านอาจรับอาสาเดินทางออกไปเองและขอให้คงวีซ่าท่องเที่ยวของตนไว้ หลัง 1 ตุลาคมนี้ คุณจะทำไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ถ้าคุณถูกดำเนินเรื่องขับไล่ถือเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่สุด เพราะจะเป็นปัญหาทำเรื่องกลับเข้าอเมริกาไม่ได้ตลอดชีวิต เพราะถ้าเป็นกรณีรับอาสาเดินทางออกเองจะไม่เป็นประวัติเสีย และสามารถทำเรื่องเข้าอเมริกาได้

ผลต่อคุณ
สิ่งที่กลุ่มทนายอิมมิเกรชั่นเป็นห่วงคือ เคสขอใบเขียวที่มีปัญหาบางครั้งเพียงเล็กน้อย เช่น อาจเป็นการขาดเอกสาร หรือส่งหลักฐานเพิ่มไม่ทัน หรือผู้ยื่นไม่ได้รับจดหมายนัดจากอิมมิเกรชั่น เป็นต้น ตามระเบียบใหม่นี้เคสอาจถูกปฏิเสธได้ง่ายๆ และเมื่อลูกความได้รับโนติสให้ไปศาล ถึงแม้จะเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยที่อาจแก้ไขได้ แต่หลังจากได้รับโนติสแล้วจะเป็นการยากที่จะไปเบรกเรื่องและแก้ไขจากปลายเหตุ เพราะระบบงานอิมมิเกรชั่นปัจจุบันแยกออกเป็นหลายแผนก เมื่อคุณถูกโนติสดำเนินเรื่องขับไล่ ทุกแผนกจะมีบันทึกประวัติของคุณ ถึงแม้เรื่องจะแก้ไขได้ภายหลัง แต่หลายครั้งที่ประวัตินั้นไม่ถูกลบจากระบบ ทุกครั้งที่คุณเดินทางเข้าออกประเทศ ก็อาจเป็นปัญหาได้

ปัญหา
กลุ่มทนายอิมมิเกรชั่นเชื่อกันว่า ไดเร็คเต้อร์อิมมิเกรชั่นออกเม็มโมครั้งนี้เนื่องจากต้นปีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินคดีชนะให้ผู้ที่ถูกดำเนินเรื่องเนรเทศ สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวได้ในขณะถูกดำเนินเรื่อง ไดเร็คเต้อร์ รีบออกเม็มโมประกาศระเบียบใหม่ นี่คือปัญหาระบบกฎหมายที่นี่ เพราะถึงแม้จะมีตัวบทกฎหมายอิมมิเกรชั่นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันไดเร็คเต้อร์อาจตีความหมายออกมาอย่างหนึ่งและผ่านเม็มโมระบุระเบียบการวางไก๊ดไลน์ ให้เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นก็จะปฎิบัติตามทันที จนกว่าจะมีคดีขึ้นถึงศาล และถึงแม้ศาลจะตัดสินให้เคสชนะ แต่จะเป็นเพียงเคสต่อเคส ตัวบทกฎหมายไม่ได้เปลี่ยน ทนายก็จะพยายามนำเคสนั้นมาเป็นบรรทัดฐานใช้กับเคสต่อไป ถ้าเราได้เจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นที่ใจกว้างหน่อยยอมรับเคสบันทัดฐานเป็นตัวอย่าง เคสเราก็จะผ่านไปได้สวย แต่ถ้าแจ๊คพ็อทพบเจ้าหน้าที่ๆไม่สน และตีความหมายเคสแตกต่างไป เคสก็จะถูกปฎิเสธ ผู้ยื่นส่วนมากก็มักจะยอมรับและเลิกราไปเพราะไม่มีเงินสู้ค่าทนายไปต่อสู้ถึงขั้นศาล

ข้อแนะนำ
การทำอิมมิเกรชั่นเคสแต่ละเคสต้องละเอียดมากๆ การเตรียมเอกสาร การกรอกข้อมูลในเอกสาร ถึงการสัมภาษณ์แต่ละตอนต้องอาศัยความรู้และความละเอียด

source : www.rujirat.com

ที่อยู่ยื่นเรื่องขอใบเขียว

ผู้ที่ยื่นเรื่องขอใบเขียวโดยยื่นฟอร์ม I-130 ผ่าน “คอนซูล่า พรอเซสซิ่ง” (Consular Processing) คุณต้องส่งเรื่องไปที่อยู่ที่ชิคาโก้ล็อคบ็อกส์ คือเขตหนึ่งสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในแถบ ภาคปาซิฟิคโคสท์ มิดเวสท์และเขตร็อคกี้เมาน์เท็น คือ ผู้อยู่ในรัฐอลาสก้า, อาริโซน่า, คาลิฟอร์เนีย, โคโลราโด้, กวม, ไอดาโฮ, อิลลินอยส์, อินเดียนน่า, ไอโอว่า, แคนซัส, มิชิแกน, มินิโซต้า, มิสซูรี่, มอนทาน่า, เนบราสก้า, เนวาด้า, นอร์ท ดาโคต้า, เซาท์ ดาโคต้า, โอไฮโอ้, โอริกอน, ยูท่าห์, วอชิงตัน, วิสคอนซิน, และไวโอมิง ต้องส่งเรื่องไปตามที่อยู่นี้
USCIS
PO BOX 804625
CHICAGO IL 60680-1029

ส่วนเขตที่สองสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบ เซาท์เวสท์และเซาท์เทอร์น คือผู้อยู่ในรัฐ อาลาบาม่า, คอนเน็ตติคัท, เดลาแวร์, ฟลอริด้า, จอร์เจีย, เค็นตั๊คกี้, หลุยเซียน่า, เมน แมรี่แลนด์, แมสสาจูเซ็สท์, มิสซิสซิปปี้, นิว แฮมเชียร์, นิวเจอร์ซี่, นิวเม็กซิโก, นิวยอร์ค, นอร์ทคาโรไลน่า, โอคลาโฮม่า, เพ็นซิลเวเนีย, เพอร์โทริโก้, โรดไอส์แลนด์, เซาท์คาโรไลน่า, เท็นเน็สซี่, เท็กซัส, เวอร์ม้อนท์, เวอร์จิเนีย, เวสท์ เวอร์จิเนีย, ยูเอ็ส เวอร์จินไอส์แลนด์, อละดิสตริค ออฟโคลัมเบีย ต้องส่งเรื่องไปตามที่อยู่นี้
USCIS
PO BOX 804616
CHICAGO IL 60680-1029
คุณสามารถเช็คข้อมูลไปที่เว๊บไซท์มมิเกรชั่นที่ http://www.uscis.gov/

ผู้ที่ส่งเรื่องเปลี่ยนสถานภาพคือขอใบเขียวในอเมริกา ยังส่งเรื่องไปตามที่อยู่เดิมคือ
USCIS
PO BOX 805887
CHICAGO IL 60680-4120


source : http://www.rujirat.com/

การเตรียมเอกสาร เพื่อทำใบเขียวสิบปี

การเตรียมเอกสารหลังแต่งงาน
ข้อปฎิบัติเหล่านี้ ให้คุณเริ่มค่อยๆทำหลังแต่งงาน โดยไม่ต้องรอให้คู่สมรส(แฟน)เป็นคนทำ โดยเฉพาะแฟนฝรั่งเขาจะไม่รู้เรื่องกฎหมายอิมมิเกรชั่น เอกสารเหล่านี้คุณไม่ต้องเก็บตัวจริงได้ เพียงแต่นำไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ ซื้อแฟกส์ไว้สักเครื่อง คอยถ่ายเอกสารเก็บไว้ หรือคุณที่เก่งคอม ก็แสกนเอกสารเก็บไว้ ขอให้คุณค่อยๆเก็บไปเรื่อยๆไว้รวมกัน เมื่อถึงเวลายื่นเรื่อง ตอนนั้นถ้าแฟนไม่ร่วมมือ อย่างน้อยคุณก็จะมีเอกสารอยู่ในมือแล้ว

1. สัญญาเช่าบ้านร่วมกัน ถ้าคุณทั้งสองไปเช่าอพาร์ทเม๊นท์ด้วยกัน ให้ใส่ชื่อคุณทั้งสอง ถ้าคุณย้ายไปอยู่อพาร์ทเม็นท์ที่แฟนอยู่มาก่อน ให้เขาเพิ่มชื่อคุณเขาไปในสัญญาเช่า ถ้าเขาไม่ทำ คุณเจอหน้าผู้จัดการเมื่อไร แนะนำตัวเองและขอใบเพิ่มชื่อเองเลย ถ้าแฟนมีบ้านอยู่แล้ว คุณย้ายไปอยู่บ้านเขาไม่เป็นไร ถ้าเห็น เสตทเม๊นท์ธนาคารที่เขาผ่อนบ้าน ถ่ายสำเนาเก็บไว้สักใบ

2. บิลค่าน้ำ ไฟ ถึงแม้จะเป็นชื่อคนใดคนหนึ่งคนเดียว และเมื่อคุณซื้อมือถือให้ใส่ที่อยู่ใหม่ และเก็บบิลไว้หรือถ้ามีมือถือ แล้ว ให้เปลี่ยนบิลมาลงที่บ้านคุณและแฟน

3. เปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน หรือให้เขาใส่ชื่อคุณลงในบัญชีเขา เก็บเสตทเม๊นท์แบ๊งค์ที่มีชื่อร่วมกัน โดยถ่ายสำเนาไว้ประปราย ไม่ต้องทุกเดือน หรือถ้าเขาไม่ทำคุณเปิดบัญชีคุณเองและคุณใส่ชื่อเขาเข้าไปด้วย และใส่ชื่อคุณและเขาบนสมุดเช็ค และขอ ATM สองใบชื่อเขาหนึ่ง คุณหนึ่ง และถ้าแบ๊งเสนอให้บัตรเครดิต รับไว้ ขอสองใบคุณและเขา ถ่ายสำเนาบัตร ATM บัตรเครดิต ทั้งสองใบ

4. ยื่นภาษีร่วมกัน เป็น Joint tax return และถ่ายสำเนาเก็บสองหน้าแรกไว้

5. บัตรเครดิต ของธนาคารหรือร้านค้า เวลาไปช็อปปิ้งด้วยกันที่คู่สมรสมีเครดิตคาร์ด ขอให้เขาขอบัตรเครดิตเพิ่มให้คุณด้วยหนึ่งใบ อาจเริ่มจากคอสโก้คาร์ด และค่อยๆขยายไป ถ้าคุณมีเครดิตคาร์ดของคุณอยู่แล้ว คุณอาจขอคาร์ดเพิ่มให้คู่สมรสของคุณ เมื่อได้คาร์ด ถ่ายสำเนาคาร์ดทั้งสองใบ ของคุณและเขาเก็บไว้ และเริ่มเก็บสเตทเม็นท์บิลประปราย

6. ประกันรถ หัดขับรถ หรือถ้าขับรถอยู่แล้ว ให้คุณโทรไปบริษัทประกันรถเพิ่มชื่อแฟนเข้าไปเป็น Second driver หรือขอให้แฟนใส่ชื่อคุณเข้าไปในประกันเขา

7. ให้ข้อมูลสถานภาพสมรสกับที่ทำงาน ถ้าคุณทำงาน จะเป็นการดีเพราะคุณควรจะพึ่งตัวเองได้ เพราะถ้าอนาคตข้างหน้าการสมรสไม่ยืด เมื่อคุณทำงาน ขอให้คุณรับเงินเดือนบนโต๊ะปกติ อย่ารับเงินใต้โต๊ะ ขอให้จ่ายภาษี นายจ้างจะให้ฟอร์มคุณกรอกข้อมูลจ่ายภาษี ให้คุณกรอกข้อมูลว่า สถานภาพสมรส (married) และให้ที่อยู่เดียวกันกับแฟน และขอให้ถ่ายเอกสารนั้นเก็บไว้กับตัวคุณ

8. ใบขับขี่ ให้ไปเปลี่ยนที่อยู่ที่เดียวกันกับแฟน

9. ถ่ายรูปร่วมกัน ดิฉันจะมีกล้องติดตัวอยู่ในรถประจำ เวลาไปไหนก็หยิบถ่าย ให้คุณนำกล้องติดตัว ไปนั่งทานร้านอาหาร วิวสวยๆ จับแฟนมาถ่ายรูปด้วยกัน และเก็บรูปไว้

อย่าทำ
1. พยายามอย่าย้ายบ้าน ในขณะยื่นเรื่องทำใบเขียวสองปี หรือใบเขียวสิบปี ระหว่างยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปี คุณจะได้จดหมายให้ไปพิมพ์นิ้วมือ ฉะนั้นถ้าคุณย้ายบ้าน คุณจะไม่ได้รับจดหมาย และเมื่อเรื่องผ่านใบเขียวจะส่งมาทางไปรษณีย์ที่บ้าน ส่วนมากไปรษณีย์จะไม่ forward จดหมายสำคัญจากรัฐบาล หรือส่งไปที่ตู้ไปรษณีย์
2. อย่าหุนหันย้ายออกจากบ้าน หรือท้าเลิกกับแฟนปรองดองกันไว้ก่อน จนกระทั่งยื่นเรื่องเสร็จ ในกรณีในจดหมายอยู่กันมาถึง 1ปี 11 เดือน อย่างน้อยควรให้แฟนเซ็นชื่อในฟอร์มเพื่อยื่นเรื่องขอใบเขียว 10 ปีก่อน

ถ้าคุณเตรียมเอกสารมาเรื่อยตั้งแต่แต่งงานกันตามที่แนะนำข้างต้น คุณก็จะมีเอกสารพร้อมที่จะยื่นเรื่องไปที่อิมมิเกรชั่นเลย และระหว่างคอยเรื่องแนะนำว่าอย่าย้ายบ้าน ถ้าคุณจะแยกกันอยู่ ให้แฟนเป็นคนย้ายออก คุณไม่ย้ายซะอย่าง และไม่แนะนำผู้มีใบเขียวกลับไปอยู่เมืองไทยนานเกิน 6 เดือน จนกว่าจะได้ซิติเซ่น

3. ใบเขียวข้อมูลผิด เมื่อคุณได้รับใบเขียวทางไปรษณีย์ ถ้าใบเขียวของคุณข้อมูลผิดไม่ว่าจะเป็นสะกดชื่อผิด หรือวันเดือนปีเกิดผิด ห้ามส่งคืนไปแก้เด็ดขาด สำหรับคนต่างชาติใบเขียวนี้มีค่ายิ่งกว่าทอง ห้ามเอาใบเขียวออกนอกตัวเป็นอันขาด บ่อยครั้งที่คุณไม่ได้ใบเขียวกลับมา ข้อมูลผิดไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยเพราะคุณมีเวลาแก้ภายหลัง คือตอนยื่นเรื่องขอใบเขียวสิบปี หรือตอนยื่นเรื่องทำซิติเซ่น คุณแก้ตอนนั้นได้เช่นกัน

การที่คุณส่งใบเขียวไปแก้ จะมีสองแบบคือ อิมมิเกรชั่นใส่ข้อมูลผิด คุณส่งไปแก้ไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นความผิดของคุณ คุณต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมใหม่ และนอกจากนั้นคุณยังต้องส่งหลักฐานแสดงว่าเป้นความผิดของอิมมิเกรชั่น ทางอิมมิเกรชั่นยอมรับว่าเขาไม่มีเครื่องมือหรือแรงเข้าที่ๆจะ “พรอเซส” เคสที่ใบเขียวข้อมูลผิดพลาด และคุณต้องรู้ออฟฟิสที่ต้องส่งเรื่อง ซึ่งเป็นคนละออฟฟิสกับการขอหรือต่อใบเขียวชนิดอื่น

บางคนข้อมูลถูกแต่สามีสั่งให้แก้เปลี่ยนนามสกุลตามสามี คุณไม่ต้องแก้ คุณสามารถใช้นามสกุลสามีได้เลยถึงแม้ใบเขียวจะเป็นนามสกุลเก่าก็ตาม คุณสามารถทำใบขับขี่ ขอโซเชียลได้ โดยแสดงทะเบียนสมรสให้เขาดู แต่ถ้าลำบากก็ไม่ต้องไปวอรี่กับมัน คุณสามารถแอ็พพลายเครดิตคาร์ด หรืออื่นๆในนามสกุลใหม่ได้

source : http://www.rujirat.com/

ใบเขียว 10 ปี (1)

ถ้าคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวแต่งงานและได้ใบเขียวภายในสองปีนับจากวันที่จดทะเบียนสมรส คุณจะได้“ใบเขียวสองปี” เป็น “ใบเขียวเงื่อนไข” หรือ “คอนดิชั่นเนิ่ล กรีนคาร์ด” (Conditional Green Card) มีอายุ 2 ปี โดยแสดงหลักฐานว่าคุณทั้งสองยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ตามศัพท์อิมมิเกรชั่นเรียก bona fides marriage คือยังไม่หย่า และภายใน 90 วันก่อนครบสองปี คุณกับสามีต้องยื่นเรื่องขอยกเลิกเงื่อนไขไปที่อิมมิเกรชั่น ซึ่งใช้เวลาประมาณระหว่าง 6-8 เดือน เมื่อเรื่องผ่านหรือ “แอ็พพรูฟ” (Approve) คุณจะได้ใบเขียว 10 ปีหรือใบเขียวถาวร Permanent Green card (แต่ถ้าคุณหย่าก่อนสองปีใบเขียวสองปีนั้นจะถูก
โมฆะ)

หลังจากนั้น คุณจะสามารถยื่นเรื่องโอนสัญชาติหรือขอซิติเซ่นได้ เร็วที่สุดคือ 90 วันก่อนครบ 3 ปีนับจากวันที่ได้ใบเขียวแรก วิธีดูคือ ให้ดูบนใบเขียว จะเขียนว่า Resident since และวันที่….. . หมายความว่า คุณเป็นเรสสิเด๊นท์ หรือมีถิ่นฐานถาวร ณ. ตั้งแต่วันที่นั้น ใบเขียวจากการแต่งงานกับซิติเซ่น เป็นใบเขียวชนิดเดียวที่คุณสามารถยื่นเรื่องขอซิติเซ่นได้ภายใน 3 ปีตราบใดที่คุณยังไม่หย่า แต่ถ้าคุณหย่าหลังได้ใบเขียวถาวร หรือคุณได้ใบเขียวจากวิธีอื่นนอกเหนือจากการแต่งงานกับซิติเซ่น คุณต้องรอ 5 ปี ถึงจะขอซิติเซ่นได้

ข้อยกเว้นคุณสามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผัน โดยขอใบเขียวถาวร (ใบเขียว 10 ปี) ด้วยตนเองในกรณีเหล่านี้ถ้าคู่สมรสตายถ้าคุณแต่งงานจริง แต่มีเหตุผลที่ต้องหย่าถ้าคู่สมรสไม่ยอมร่วมมือเซ็นถ้าคู่สมรสซิติเซ่นของคุณตบตี ทารุณกรรมกับคุณหรือ/และ ลูกของคุณ

ในกรณีใดกรณีหนึ่งข้างต้นเกิดขึ้นกับคุณ ทำให้คุณไม่สามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวรพร้อมคู่สมรสได้
คุณต้องยื่นเรื่องไปอิมมิเกรชั่นด้วยตนเอง โดยยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียม กรอกฟอร์ม และส่งหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับเคสคุณไปให้อิมมิเกรชั่น

กรณีแยกกันหรือหย่ากรณีที่ชีวิตสมรสของคุณไปไม่รอด คุณสามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผันด้วยตนเองได้ โดยคุณต้องแสดงว่าคุณแต่งงานจริง โดยมีเจตนาที่จะ”ร่วมหัวจมท้าย”ด้วยกัน แต่เนื่องจากอยู่ด้วยกันไม่ได้ จึงต้องเลิกกัน และไม่ใช่ความผิดของคุณที่ต้องยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวรด้วยตนเอง

ข้อแตกต่างระหว่างยื่นเรื่องหย่าเลย หรือแยกกันอยู่เฉยๆโดยไม่หย่า
ถ้าคุณแยกกันอยู่เฉยๆโดยยังไม่ได้ยื่นเรื่องหย่า คุณต้องรอให้ถึง 90 วันก่อนครบสองกำหนด 2 ปี คุณถึงจะยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวร และคุณต้องยื่นหลักฐานว่ากรณีที่ชีวิตสมรสของคุณไปไม่รอด คุณสามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผันด้วยตนเองได้ โดยคุณต้องแสดงว่าหลักฐานว่าคุณแต่งงานจริง แต่เนื่องจากอยู่ด้วยกันไม่ได้ จึงแยกกันอยู่ หรือคู่สมรสไม่ร่วมมือเซ็น และนอกจากนั้นคุณต้องแสดงว่าคุณจะยากลำบากหรือ”เอ็กซ์ตรีม ฮาร์ดชิพ” (Extreme hardship)อย่างไรถ้าคุณไม่ได้ใบเขียวถาวร ความยากลำบากเช่น คุณอยู่อเมริกามานาน มีครอบครัว ญาติพี่น้องหลายคนอยู่ในอเมริกา คุณมีงานทำดีเป็นหลักแหล่ง ลูกเรียนหนังสือดี และมันจะยากลำบากอย่างไรถ้าคุณหรือลูกต้องสูญใบเขียว และถูกส่งกลับและไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองไทย เป็นต้น ซึ่งการแสดงถึงความยากลำบากหรือ “เอ็กซ์ตรีม ฮาร์ดชิพ”ไม่ง่ายนัก ถ้าคุณตัวคนเดียวเพิ่งมา
อยู่อเมริกา ไม่มีญาติพี่น้อง และไม่ได้ทำงาน เป็นต้น เรื่องก็อาจไม่ผ่าน

กรณีที่คุณหย่า
ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นคุณหรือคู่สมรสยื่นเรื่องหย่าก่อน ทันทีที่คุณยื่นเรื่องหย่า คุณสามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผันและขอใบเขียวถาวรได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้เรื่องหย่าจบลง และไม่ต้องรอยื่นในช่วง 90 วันก่อนครบสองปี โดยคุณต้องแสดงว่าคุณแต่งงานจริง แต่เนื่องจากอยู่ด้วยกันไม่ได้ จึงต้องเลิกกัน และไม่ใช่ความผิดของคุณที่ต้องยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวรด้วยตนเอง คุณไม่จำเป็นต้องแสดงถึง”เอ็กซ์ตรีม
ฮาร์ดชิพ” และคุณเรื่องขอใบเขียวถาวรได้ทันทีโดยไม่ต้องคอย ข้อเตือนนะคะ คุณต้องแต่งงานจริง และมีเจตนาที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาแต่ชีวิตคู่ไปไม่รอด ถึงต้องหย่า

ถ้าคุณถูกทารุณกรรม
กรณีที่คุณถูกคู่สมรสทารุณ ตบตีคุณ หรือตบตีลูกคุณ คุณไม่ต้องรอถึงสองปี คุณสามารถยื่นเรื่องขอ
ใบเขียวถาวรด้วยตนเองได้เลย โดยจะยื่นเรื่องหย่าหรือยังใม่ยื่นก็ได้

กรณีไม่แต่งงานจริง
กรณีที่คุณแต่งงานเพื่อใบเขียวอย่างเดียว และหลังจากคุณได้ใบเขียวสองปี แต่คู่สมรสหายตัวไปไหน
ไม่รู้ ไม่แนะนำให้คุณยื่นเรื่องผ่อนผันขอใบเขียว 10 ปีด้วยตนเอง เพราะคุณไม่ได้แต่งงานจริงตั้งแต่
แรก เห็นมีทางเดียวคือ หย่า และภาวนาขอให้เจอเนื้อคู่จริงเร็วๆก่อนที่ใบเขียวจะหมดอายุ และคราวนี้
คุณแต่งงานใหม่จริงด้วยความรัก คุณต้องยื่นเรื่องทำใบเขียวแต่งงานใหม่ คุณไม่สามารถทำเรื่อง
ขอใบเขียวถาวรหรือใบเขียว 10 ปี จากคู่สมรสคนใหม่ได้ เนื่องจากใบเขียวสองปีได้มาจากคู่สมรส
คนเก่า คราวนี้เมื่อคุณยื่นเรื่องขอใบเขียวแต่งงานใหม่ คุณจะถูกเพ่งเล็งมากขึ้นตอนสัมภาษณ์

source : www.rujirat.com

ใบเขียวเงื่อนไข

ภายใต้“กฎหมายป้องกันการแต่งงานปลอม” เรียก Immigration Marriage Fraud Amendments (IMFA) ผ่านมาปี 1986 ถ้าคุณทำใบเขียวแต่งงานและได้ใบเขียวภายในสองปีนับจากวันที่จดทะเบียน คุณจะได้ใบเขียว “ใบเขียวเงื่อนไข”หรือ Conditional Resident มีอายุ 2 ปี ซึ่งคุณและสามีต้องยื่นเรื่องด้วยกันขอใบเขียวถาวร 90 วันนับจากวันที่คุณได้ใบเขียว เมื่อเรื่องผ่านคุณถึงจะได้ใบเขียวถาวร ถ้าคุณหย่าก่อนสองปี คุณอาจจะสูญใบเขียวได้ นอกจากคุณจะยื่นเรื่องขอผ่อนผัน ซึ่งยากที่จะได้ นอกจากกรณีที่คุณถูกสามีทำร้ายร่างกาย ตบตี กรณีนี้คุณสามารถยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวรได้ด้วยตนเอง โดยสามีไม่ต้องเซ็นหลังจากคุณได้ใบเขียว ในระหว่างที่คุณคอย 3-5 ปีที่จะทำซิติเซ่น (โอนสัญชาติ) คุณจะต้องมีถิ่นฐานอยู่ในอเมริกาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และห้ามขาดช่วงคือห้ามอยู่นอกประเทศครั้งละเกิน 6 เดือน เรียกว่าคุณต้องมี “ฟิสิเคิ้ล เพรสเซ่น” (Physical Presence) ในอเมริกา

source : http://www.rujirat.com/

ใบเขียวแต่งงาน (2)

เตรียมเอกสารขอใบเขียว
ฝ่ายคุณต้องเตรียมเอกสารดังนี้ คือรูปถ่ายหน้าตรงแบบพาสปอร์ต 2×2 นิ้วหนึ่งใบ สำเนาทะเบียนสมรส สำเนาใบเกิด ถ้าไม่มีให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนแทน สำเนาใบเปลี่ยนชื่อทุกใบ (ถ้ามี) สำเนาใบหย่าทุกใบกับสามีเก่าทุกคน (ถ้าคุณเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน) เอกสารเหล่านี้เป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ และสำเนาพาสปอร์ต ที่เราต้องใช้เพราะต้องการดูคำสะกดชื่อและนามสกุลของคุณ เพราะปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศสะกดชื่อและนามสกุลให้คุณเมื่อคุณไปทำพาสปอร์ต ถ้าคุณมีบุตรขอสำเนาใบเกิดบุตรด้วย

ทำใบเขียวให้บุตรพร้อมคุณ
ถ้าคุณมีลูกติด และถ้าสามีโอเค สามีสามารถยื่นเรื่องทำใบเขียวให้ลูกคุณได้พร้อมตอนยื่นเรื่องให้คุณ ในฐานะลูกเลี้ยง ตราบใดที่ลูกคุณอายุต่ำกว่า 18 ปี ณ. วันที่คุณจดทะเบียนและลูกยังเป็นโสด ถ้าลูกอายุเกิน 18 แล้วหรือจดทะเบียนแล้ว สามีไม่สามารถทำเรื่องให้ลูกได้ คุณต้องรอจนกว่าคุณจะได้ใบเขียวหรือเป็นซิติเซ่นก่อนคุณถึงจะยื่นเรื่องให้ลูกเองภายหลังได้ หรือในกรณีที่คุณและสามีไม่พร้อมที่จะเอาลูกไปอเมริกาทันที สามีอาจยื่นเรื่องขอใบเขียวให้ลูกคุณภายหลังได้

ระยะเวลาคอย
เมื่อสามีกลับอเมริกา ทางเราจะยื่นเรื่องขอใบเขียวไปที่อิมมิเกรชั่น ปัจจุบันเรียก U.S. Citizenship and Immigration Services ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือนก่อนจะเรียกสัมภาษณ์ (ถ้าเรื่องผ่านด้วยดี คือทางสามีร่วมมือกับทนายส่งเอกสารต่างๆที่ขอ) ตัวคุณจะต้องเซ็นเอกสาร 2 แผ่นคือ ฟอร์ม G-325 Biographic Data เป็นประวัติส่วนตัวของคุณ เช่นที่อยู่ ที่ทำงานปัจจุบันรวมระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และอีกเอกสารหนึ่งคือ DS 230 I เป็นเอกสารเกี่ยวกับประวัติคุณเช่นกัน ใบนี้เซ็นทีหลังเมือเรื่องผ่านแล้ว

รวบรวมเอกสารระหว่างคอย
ระหว่างนี้คุณก็ รวบรวมเอกสารและหลักฐานเตรียมไปสัมภาษณ์ ดังนี้คือ เอกสารตัวจริงตามข้างต้น คือ ใบเกิด ใบเปลี่ยนชื่อ ใบแต่ง ใบหย่า เป็นต้น ส่วนหลักฐานจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าคุณแต่งงานจริง คือมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา รวม หลักฐานการติดต่อก่อนและหลังแต่งงาน เช่น จดหมายติดต่อ การ์ดวันเกิด วันวาเล็นไทน์ เป็นต้น โดยเก็บตัวจดหมายและซองที่มีไปรษณีย์ประทับตรา อีเมล์ติดต่อกัน ให้พรินท์อีเมล์ของคุณและสามีเก็บไว้ หลักฐานการส่งเงินที่สามีซัพพอร์ท รูปถ่ายคู่และหมู่และรูปถ่ายพิธีแต่งงาน การ์ดเชิญแต่งงาน (ถ้ามี) สำเนาการเดินทางที่สามีเข้าเมืองไทยมาหาคุณ เป็นต้น

รายได้สามี
เอกสารหนึ่งที่สามีต้องยื่นคือ หลักฐานการเงินว่าสามีมีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูหรือซัพพอร์ทคุณหรือไม่ รัฐบาลไม่ต้องการให้คุณไปเป็นภาระสังคมกินสวัสดิการรัฐบาล (ตอนนี้เป็นตอนที่คุณจะรู้ว่าสามีทำงานดี มีเงินเดือนดีหรือเปล่า) ถ้าสามีมีรายได้ไม่พอตามที่กฎหมายกำหนด เขาอาจหาคนช่วยเซ็นร่วม ผู้นั้นอาจเป็นเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องได้

วันสัมภาษณ์
วันสัมภาษณ์ คุณสามารถไปคนเดียวได้ สามีไม่จำเป็นต้องบินมา หรือสามีอาจไปสัมภาษณ์ด้วยได้ เมื่อคุณได้รับจดหมายเรียกสัมภาษณ์ คุณจะมีเวลาระหว่าง 2-4 สัปดาห์ที่จะเตรียมเอกสารตามรายการที่ระบุในจดหมาย นอกจากเอกสารที่กล่าวมาข้างต้น คุณต้องไปถ่ายรูป ตรวจร่างกายตามรายชื่อหมอที่ให้ และไปขอประวัติจากสันติบาล ถ้าคุณมีปัญหากฎหมาย คุณต้องแจ้งให้ทนายทราบล่วงหน้า ถ้าคุณเคยพยายามขอวีซ่าไปอเมริกามาก่อนและไม่ผ่าน ไม่ป็นไร แต่ทางกงสุลจะดูประเด็นเหล่านั้นว่าคุณแต่งงานจริงหรือเปล่าหรือเพียงเพื่อจะไปอเมริกา วันสัมภาษณ์ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารและถามคำถามต่างๆเกี่ยวกับตัวคุณและสามี เช่นคุณทั้งสองรู้จักกันอย่างไร ข้อมูลและประวัติเกี่ยวกับสามี ว่ามีพี่น้องกี่คน พ่อแม่อยู่ไหน เป็นต้น ข้อสำคัญคือ ณ. วันที่ยื่นเรื่องถึงวันเรียกสัมภาษณ์ คุณไม่ควรย้ายที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ เพราะเอกสารจะส่งไปให้คุณตามที่อยู่ตอนยื่นเรื่อง ถ้าคุณย้ายที่อยู่และไม่ได้แจ้ง เอกสารคุณอาจจะหายและคุณไม่ได้รับจดหมายนัดสัมภาษณ์ได้

เมื่อเรื่องผ่าน คุณจะกลับไปรับเอกสารและได้แสตมป์ในพาสปอร์ต และคุณสามารถเดินทางได้ทันที หรือภายใน 6 เดือน คุณจะยังไม่ได้ตัวใบเขียว คุณจะได้ใบเขียวทางไปรษณีย์ส่งไปตามที่อยู่สามีประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังจากคุณเข้าอเมริกา

see also :
Documentation for Application for Permanent Residence Based On Marriage To A U.S. Citizen


source : http://www.rujirat.com/

ใบเขียวแต่งงาน (1)

ถ้าคุณอยู่เมืองไทย และถ้าคุณเจอแฟนฝรั่งหรือคนไทยซิติเซ่นเพื่อแต่งงาน แต่คุณยังไม่แน่ใจในตัวผู้ชาย แทนที่จะจดทะเบียนแต่งงาน คุณอาจทำวีซ่าคู่หมั้นไปอเมริกาก่อน เพราะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2006 กฎหมายอิมมิเกรชั่นได้เข้มงวดระเบียบการขอวีซ่าคู่หมั้นมากขึ้น เพื่อปกป้องผู้หญิงเกรงว่าจะถูกนำไปกระทำทารุณกรรมโดยเพิ่มกฎให้มีการเช็คประวัติคู่หมั้นฝรั่งของคุณว่าเขามีประวัติคดีอาญาเคยทารุณกรรม เช่นตบตีเมียหรือแฟนมาก่อนหรือเปล่า หรือเขาเคยขอวีซ่าคู่หมั้นมากี่ครั้งแล้ว

เงื่อนไขวีซ่าคู่หมั้น คือคุณต้องได้เจอตัวกันแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในสองปีก่อนก่อนยื่นเรื่อง และเมื่อได้วีซ่าคู่หมั้น วีซ่ามีอายุ 3 เดือนนับจากวันที่คุณเข้าอเมริกาและคุณต้องแต่งงานกับคู่หมั้นภายใน 90 วันนั้น คุณไม่สามารถไปแต่งานกับคนอื่นได้ ถ้ามันไม่เวิ้ร์คระหว่างคุณและเขา คุณยังมีโอกาสกลับมาเมืองไทยตั้งหลักใหม่ได้


ความรู้ด้านกฎหมาย
ผู้หญิงไทยที่ทำใบเขียวแต่งงานและอยู่ๆก็ย้ายไปอยู่ต่างแดน ถ้าคุณมีความรู้ด้านกฎหมายเท่ากับคุณมีอาวุธคุ้มครองตัวคุณเอง เพื่อสามีฝรั่งหรือสามีไทยที่ทำใบเขียวนำคุณมาจากเมืองไทยก็จะให้เกียรติคุณ และไม่เหยียบย่ำคุณ

ขั้นตอนและระยะเวลาทำใบเขียวแต่งงาน
กรณีที่แฟนฝรั่งบินมาจดทะเบียนที่เมืองไทย ก่อนที่คุณทั้งสองจะไปจดทะเบียน แฟนฝรั่งต้องไปสถานทูตอเมริกันไปขอใบคล้ายๆใบรับรองสถานภาพว่าตนเป็นโสดสามารถจดทะเบียนกับหญิงไทยได้ เรียกใบ แวริฟิเคชั่น ออฟ สแตตัส (Verification of Status) เขาต้องนำพาสปอร์ตอเมริกัน และถ้าเขาเคยจดทะเบียนมาก่อนให้เขานำใบหย่าไปด้วย เขาให้ข้อความต่อหน้าท่านกงสุล จ่ายค่าธรรมเนียมและทางกงสุลออกใบรับรองให้ เมื่อได้รับรองซึ่งเป็นภาษาอังกฤษเขาก็ต้องนำไปแปลเป็นไทยและนำไปให้กระทรวงการต่างประเทศรับรอง ขอแนะนำให้นำไปให้สถานที่รับแปลเอกสารแปลและเขารับไปยื่นที่กระทรวงการต่างประเทศให้เสร็จ หลังจากคุณได้เอกสารกลับมาแล้ว คุณทั้งสองก็สามารถจูงมือกันไปจดทะเบียนได้ที่อำเภอหรือสำนักงานเขต

ถ้าแฟนเป็นคนไทยที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกันซิติเซ่น วิธีที่ถูกต้องคือทำตามข้างต้น หรือถ้าแฟนคนไทยยังมีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไทย ก็อาจจะเดินขึ้นอำเภอจดทะเบียนได้เลยในฐานะคนไทย แต่ถ้าทางอำเภอทราบว่าผู้ชายโอนสัญชาติแล้วอาจจะไม่รับจดทะเบียนและส่งกลับไปทำตามขั้นตอนข้างต้น

พิธีแต่งงาน
คุณอาจมีพิธีแต่งงานหรือไม่มีก็ได้ไม่จำเป็น หรือถ้าคุณอาจจะมีแต่งานเลี้ยงฉลองกันเองในครอบครัวก็ได้ อย่างไรก็ตามขอให้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อแสดงต่อกงสุลวันสัมภาษณ์

เปลี่ยนนามสกุล
คุณอาจเปลี่ยนนามสกุลตามสามีหรือไม่เปลี่ยนโดยยังคงใช้นามสกุลไทยของคุณได้ ทั้งกฎหมายไทย และกฎหมายอเมริกันยอมรับค่ะ ถ้าคุณไม่เปลี่ยน เวลาคุณขอพาสปอร์ตไทย คุณยังคงชื่อและนามสกุลไทยอยู่ เวลาขอใบเขียว ใบเขียวก็จะเป็นชื่อและนามสกุลไทย แต่ถ้าคุณต้องการใช้นามสกุลฝรั่ง เมื่อคุณขอพาสปอร์ตก็ใส่นามสกุลฝรั่งเลย หรือถ้ามีพาสปอร์ตอยู่แล้ว เพียงนำทะเบียนสมรสและไปขอแก้ชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น และเวลาขอใบเขียว ใบเขียวก็จะเป็นนามสกุลฝรั่งตามสามี ตามความเห็นดิฉัน ใจดิฉันชอบที่จะใช้นามสกุลไทยในเอกสารราชการต่างๆ เช่นพาสปอร์ต ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน เป็นต้น

เมื่อคุณไปถึงอเมริกาถ้าคุณเปลี่ยนใจอยากใช้นามสกุลฝรั่ง หรือสามีงอแงอยากให้คุณใช้นามสกุลเขา คุณสามารถใช้นามสกุลเขาได้ โดยไม่ต้องไปยื่นทำเรื่องขอแก้ไขพาสปอร์ตหรือใบขียวของคุณ

วิธีเปลี่ยนนามสกุลคือโดยการเริ่มใช้นามสกุลฝรั่งตามสามี เช่นเมื่อไปสมัครงาน ขอใบขับขี่ ใบโซเชียล บัตรเครดิต เป็นต้น

source : http://www.rujirat.com/

ใบเขียว : ใบเขียวลงทุน

ใบเขียวคือ ใบต่างด้าวถาวร ถ้าคุณได้ใบเขียว คุณสามารถอยู่ในอเมริกาได้ตลอดและทำงานได้ และถ้าคุณได้ใบเขียวมาระยะหนึ่ง 5 ปี คุณสามารถยื่นเรื่องขอโอนสัญชาติเป็นคนอเมริกันได้

ใบเขียวลงทุน เป็นใบเขียวเปิดให้คนต่างชาติมาลงทุนในอเมริกา เริ่มมีตั้งแต่ปี 1990 ตอนช่วงที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้จีน อเมริกาต้องการล่อให้คนเศรษฐีฮ่องกงที่ไม่ต้องการตกภายใต้การปกครองของจีนนำเงินมาลงทุนย้ายถิ่นฐานมาอยู่อเมริกา จึงกำหนดโควต้าใบเขียวปีละ 10,000 ใบให้เป็นใบเขียวลงทุน แต่ละปีไม่เคยใช้โควต้าหมด

ข้อดี ของใบเขียวลงทุนคือ (1)ไม่ต้องคอยนานเพราะมีโควต้าเหลือมาก (2)ทำใบเขียวลงทุน จะได้ใบเขียวทั้งครอบครัว คือคู่สมรส และลูกอายุต่ำกว่า 21 ปีจะได้ด้วย

ข้อเสีย คือ (1) เงินลงทุนสูงจำนวน $500,000 ถึง 1 ล้านเหรียญ (เงินลงทุน $500,000 ในกรณีที่ธุรกิจตั้งอยู่ในเขตกันดารที่มีคนว่างงานสูง) (2) ผู้ลงทุนต้อง”แอ็กทีฟ”ในธุรกิจนั้นๆ (3) คุณต้องมีคนงานอเมริกันทำงานอย่างน้อย 10 คน (4) ระยะสองปีแรกคุณต้องแจ้งหรือ”รีพอร์ท”รายได้ที่คุณได้รับทั้งหมดทั้งในและนอกประเทศ (5) ใบเขียวลงทุนเป็นใบเขียวเงื่อนไขมีอายุสองปี หลังสองปีคุณต้องยื่นเรื่องขอใบเขียวถาวร

ในปี 1993 ทางอิมมิเกรชั่นได้ลดหย่อนเงื่อนไขต่างๆลงมาก เนื่องจากมีคนสมัครขอใบเขียวลงทุนน้อยเกินคาด โดยให้ลงทุนได้ $500,000 แม้จะอยู่ในเขตที่พลเมืองหนาแน่นถ้าแสดงว่าจะพัฒนาให้มีความเจริญขึ้น และคุณไม่จำเป็นต้อง”แอ็กทีฟ”ในธุรกิจได้

source : www.rujirat.com

วีซ่าคู่หมั้น

ในปี 1986 ภายใต้กฎหมาย Immigration Marriage Fraud คองเกรสได้เพิ่มเงื่อนไขวีซ่าคู่หมั้นเพื่อปกป้องการแต่งงานปลอม โดยมีเงื่อนไขว่า ก่อนทำวีซ่าคู่หมั้นได้ คู่หมั้นต้องได้พบตัวคือเห็นหน้ากันแล้วภายในระยะสองปีก่อนยื่นเรื่อง และเมื่อเข้าประเทศแล้วทั้งสองต้องแต่งงานกันภายใน 90 วันนับจากวันที่เข้าประเทศ
source : http://www.rujirat.com/

วีซ่านักเรียน

วีซ่านักเรียนหรือวีซ่า F-1 ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากตั้งแต่ปี 2003 เนื่องจากผู้ก่อการร้ายเหตุการณ์วัน 9/11 ประมาณ 9 คนถือวีซ่านักเรียน รัฐบาลจึงรัดกุมในการออกวีซ่านักเรียนมากขึ้น โดยตั้งระบบ SEVIS ย่อมาจาก The Student and Exchange Visitor Information System เป็นดาต้าเบสที่ทางโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การรับรองจากอิมมิเกรชั่นต้องลิ๊งค์ข้อมูลถึงอิมมิเกรชั่น โดยรายงานไปที่อิมมิเกรชั่นถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียนต่างชาติ ถ้านักเรียนขาดเรียน ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนโรงเรียน ไม่มาลงทะเบียน เป็นต้น

ระบบนี้เริ่มกับนักเรียนใหม่วันที่ 31 มกรา 2003 หมายความว่าถ้าคุณได้วีซ่านักเรียนมาอเมริกา หรือเปลี่ยนจากวีซ่าอื่นเป็น วีซ่า น.ร. หลังวันที่ 31 มค 2003 เท่ากับคุณตกอยู่ภายใต้ระบบ SEVIS ส่วนผู้ถือวีซ่า F-1ก่อนหน้า 31 มค 2003 ถ้าคุณโดดและไม่ไปเรียนก่อนหน้านั้น เท่ากับคุณไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบ SEVISหมายความว่าโอกาสคุณน่าจะปลอดภัย เพราะทางโรงเรียนคงไม่ได้แจ้งรายชื่อคุณเข้าไปที่อิมมิเกรชั่น แต่ผู้ที่ได้วีซ่า F-1 ก่อนหน้า 31 มค 2003 แต่ยังเรียนอยู่ตอนช่วง 2003 หรืออาจเคยหยุดพักเรียนและกลับไปเรียนใหม่ หรือกลับไปเมืองไทยและกลับมาใหม่ด้วยวีซ่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะป้อนข้อมูลของคุณเข้าระบบ SEVIS ใหม่

อายุวีซ่าและสถานภาพ
ทางสถานทูตมักออกวีว่านักเรียน F-1 ให้ 5 ปี บนวีซ่าใหญ่ และเมื่อคุณเข้าอเมริกา อิมมิเกรชั่นจะเขียนบนบัตรขาเข้าหรือฟอร์ม I-94 (คนไทยมักเรียกวีซ่าเล็ก แต่จริงๆแล้วไม่ใช่วีซ่า) ว่า D/S ย่อมาจาก Duration of Status แปลตรงตัวว่าระหว่างสถานภาพ แต่จะไม่มีแสตมป์วันหมดอายุที่คุณต้องเดินทางออก หมายความว่าตราบใดที่คุณคงสถานภาพนักเรียน คุณก็อยู่ได้ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไรที่คุณเลิกเรียน คุณก็จะหมดสถานภาพนักเรียน เท่ากับวีซ่าขาด ขอให้คุณถือบัตรขาเข้าเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าคุณเลิกเรียน ถึงแม้วีซ่าใหญ่ยังไม่ขาด เท่ากับสถานภาพคุณขาด คุณกลายเป็นโรบินฮู้ด

ข้อควรระวัง ฉะนั้นหลังจากปี 2003 เป็นต้นมา ผู้ถือวีซ่านักเรียนต้องเรียน ไม่อย่างนั้นคุณจะขึ้นแบล็กลิสท์และจะถูกอิมมิเกรชั่นตามจับถึงบ้านใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ที่อิมมิเกรชั่นจะมาตามตัวถึงบ้าน ถึงคุณจะย้ายบ้าน อิมมิเกรชั่นไม่สน ถือเป็นความผิดของคุณ เพราะถือว่าอิมมิเกรชั่นได้ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายแล้ว เพราะตามกฎอิมมิเกรชั่นคุณจะต้องแจ้งย้ายที่อยู่ไปที่อิมมิเกรชั่นภายใน 10 วันหลังย้าย ฉะนั้นถ้าอิมมิเกรชั่นไม่มีที่อยู่ใหม่ของคุณ เขาก็ยังดำเนินเรื่องขับไล่คุณได้โดยส่งโนติสไปตามที่อยู่ที่เขามีอยู่

ปัญหาตามมา คุณที่ถือวีซ่านักเรียนและไปเรียนหนังสือตอนช่วงปี 2003 และหลังจากนั้นปล่อยให้วีซ่าขาด อาจไม่ปลอดภัยเมื่อภายหลังมาทำใบเขียวแต่งงาน เพราะเมื่อคุณแต่งงานคุณอาจได้ถูกทางอิมมิเกรชั่นดำเนินเรื่องเนรเทศค้างอยู่ โดยคุณไม่รู้ตัว เพราะคุณไม่เคยได้รับโนติสใดๆจากอิมมิเกรชั่นเนื่องจากคุณย้ายที่อยู่ ในกรณีนี้คุณจะต้องยื่นเรื่องขอผ่อนผัน (waiver) พร้อมกับทำใบเขียว

ข้อแนะนำ ถ้าคุณถือวีซ่านักเรียน คุณต้องเรียนอย่าปล่อยให้สถานภาพขาด ถ้าคุณป่วยหรือมีความจำเป็นต้องขาดเรียน ต้องแจ้งให้ Foreign Student Advisor ที่โรงเรียนทราบ เพื่อเขาจะได้ไม่แจ้งเข้าอิมมิเกรชั่น ถ้าคุณต้องการเลิกเรียน และตั้งใจจะแต่งงานกับซิติเซ่น อย่าทิ้งช่วงนาน รีบแต่งภายใน 1 ปีหลังจากหยุดเรียน ก่อนที่อิมมิเกรชั่นจะดำเนินเรื่องเนรเทศ จะได้ไม่เป็นปัญหาภายหลัง

source : www.rujirat.com

วีซ่าใหญ่/วีซ่าเล็ก

เมื่อสถานทูตอเมริกันออกวีซ่าท่องเที่ยว 10 ปีให้คุณ เป็นวีซ่า Multi Entry คือคุณสามารถเดินทางเข้าออกอเมริกาได้โดยคุณไม่ต้องขอวีซ่าใหม่แต่ละครั้งที่คุณจะเดินทางไปอเมริกา เมื่อคุณเดินทางเข้าอเมริกาเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) หรือ Immigration Officer ที่สนามบินจะแสตมป์วันที่ที่คุณเข้าประเทศ และวันที่ที่คุณต้องออกประเทศบน “บัตรขาเข้า” (เรียก Arrival Card หรือ I-94 Card) โดยปกติเจ้าหน้าที่ ต.ม. มักจะแสตมป์ให้คุณอยู่ในประเทศ 6 เดือน คนไทยส่วนมากมักเรียก วีซ่า 10 ปีว่า “วีซ่าใหญ่” และเรียกบัตรขาเข้าว่า “วีซ่าเล็ก” เมื่อคุณเดินทางกลับเมืองไทย เจ้าหน้าที่สายการบินจะดึงบัตรขาเข้า/ออกของคุณออก และรายงานเข้าอิมมิเกรชั่น ซึ่งจะเป็นเร็คคอร์ดว่าคุณได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว ซึ่งทางสถานทูตจะมีข้อมูลนี้เช่นกัน สมัยก่อนผู้ที่อยู่เกินเมื่อกลับเมืองไทยมักจะไปให้เจ้าหน้าที่ ต.ม. แสตมป์ย้อนหลังเพื่อตบตาสถานทูตว่าคุณไม่ได้อยู่เกินเพื่อไปขอวีซ่าใหม่ ขอเตือนเลยนะคะว่าสมัยนี้มันไม่เวิ้ร์คแล้วค่ะ ถ้าเขาไม่มีเร็คคอร์ดบัตรขาเข้าของคุณ เขาจะสันนิษฐานว่าคุณอยู่เกินและคุณจะขอวีซ่าใหม่ไม่ผ่าน

ขออยู่ต่อ
ถ้าคุณมีความจำเป็นจริงๆต้องขออยู่ต่อเกินกว่า 6 เดือน คุณสามารถยื่นเรื่องขออยู่ต่อไปที่อิมมิเกรชั่นได้ ควรจะยื่นอย่างน้อยประมาณ 60 วันก่อนบัตรขาเข้าหมดอายุ วีซ่าเล็กต้องยังไม่ขาด ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 การขออยู่ต่อจะยากขึ้นและมักไม่เรื่องค่อยผ่าน นอกจากจะมีเหตุการณ์จำเป็นฉุกเฉินจริงๆ ที่คุณไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และคุณต้องแสดงหลักฐานรัดกุมด้านการ กิจการ การงาน ทางเมืองไทยว่าทุกอย่างดำเนินไปปกติในขณะที่คุณอยู่อเมริกา และโชว์ว่าคุณมีเงินซัพพอร์ทตัวเองในขณะอยู่ในอเมริกาโดยไม่ต้องทำงาน

ระหว่างคอยเรื่อง
ระหว่างคอยเรื่องผ่านหรือไม่ คุณต้องห้ามทำงาน และบัตรขาเข้ายังไม่หมดอายุ ถ้าบัตรขาเข้าหมดอายุเมื่อไร เท่ากับคุณอยู่เกินอย่างผิดกฎหมาย ถ้าคุณเสี่ยงอยู่คอยเรื่อง และเรื่องคุณผ่าน คุณก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเรื่องไม่ผ่านเท่ากับคุณเป็นโรบินฮู้ดนับตั้งแต่วันที่บัตรขาเข้าหมดอายุ

ควรยื่นเรื่องขออยู่ต่อหรือไม่
ถ้าคุณมีความจำเป็นจริงๆที่ต้องอยู่ต่อ คุณก็ต้องลองยื่นเรื่องเข้าไป แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆขอแนะนำว่าอย่ายื่น เช่นกรณีที่คุณต้องการอยู่ต่อเพื่อทำงานเก็บเงินสักพักหรืออยากอยู่ต่อเผื่อจะได้ปิ๊งกับใครและแต่งงานทำใบเขียวภายหลัง เพราะถ้าคุณยื่นเรื่องขออยู่ต่อและเรื่องไม่ผ่าน คุณจะได้รับจดหมายเตือนให้คุณเดินทางออกจากประเทศ เท่ากับคุณไปเรียกความสนใจจากอิมมิเกรชั่น หรือถ้าคุณยื่นเรื่องขออยู่ต่อและไม่ผ่าน พอคุณจะไปขอวีซ่าเข้าอเมริกาใหม่ คุณจะขอลำบากเพราะทางสถานทูตจะสันนิษฐานว่าคราวหน้าคุณอาจจะอยู่เลยไม่กลับขออยู่ต่อระหว่างยื่นเรื่องขอใบเขียว

วกกลับมาคำถาม ถ้าคุณจะแต่งงานกับอเมริกันซิติเซ่น ดิฉันคิดว่าคุณควรพยายามจดทะเบียนก่อนที่บัตรขาเข้าจะหมดอายุและรีบยื่นเรื่องขอใบเขียว แต่ถ้าคุณลุ้นไม่ขึ้นและอีกฝ่ายยังไม่ขอแต่งงานเสียที คุณก็ต้องวัดดวงเอาว่าจะทำอย่างไร ถ้าคุณยื่นเรื่องขออยู่ต่อ และเหตุผลไม่ดีพอคือ “รอแต่งงาน” ก็คงถูกปฏิเสธกลับมา และ ถ้าเกิดคุณไม่ได้แต่ง ก็อาจจะเป็นการเสี่ยงมากกว่าที่จะปล่อยให้วีซ่าขาด (เงียบๆ) เพราะเมื่อคุณยื่นเรื่องเข้าไป ทางอิมมิเกรชั่นจะเพ่งเล็งและรู้ว่าคุณยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ แต่ถ้าคุณได้แต่งงานกับอเมริกันซิติเซ่น ถึงแม้คุณวีซ่าขาดแล้วก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะคุณยังทำใบเขียวได้อยู่ดี

ข้อแตกต่างในการทำใบเขียวแต่งงานในขณะที่วีซ่ายังไม่ขาดคือ ถ้าคุณมีความจำเป็นต้องการเดินทางออกนอกประเทศระหว่างรอใบเขียว คุณสามารถขออนุญาตออกไปได้ แต่ถ้าวีซ่าขาดแล้ว คุณเดินทางออกไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่จำเป็นเพราะปัจจุบันใช้เวลาทำใบเขียวแต่งงานเร็วมากประมาณ 4 เดือน

ในกรณีที่แฟนที่คุณจะแต่งงานด้วยถือใบเขียวแต่ยังไม่ได้เป็นซิติเซ่น อันนี้ต่างกับตัวอย่างข้างต้น เพราะการทำใบเขียวจากแฟนที่ถือใบเขียวอยู่ภายใต้โควต้าภายใต้กรุ๊บ เพร็ฟเฟอเร็นซ์สอง และใช้เวลานานประมาณ 5 ปี ถ้าคุณอยากอยู่กับแฟนรอเรื่องใบเขียวอยู่ในอเมริกา คุณจะต้องอยู่แบบโรบินฮู้ด เพราะถึงแม้คุณทำเรื่องขออยู่ต่อ คุณก็จะอยู่ต่อได้สูงสุดเพียง 6 เดือนเท่านั้น และหลังจากนั้นบัตรขาเข้าของคุณจะขาดอยู่ดี และเมื่อโควตาของคุณมาถึง คุณจะไม่สามารถรับใบเขียวในอเมริกาได้ คุณมีทางออกอย่างเดียวค่ะ คือ ทันทีที่แฟนคุณมีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำซิติเซ่น เขาต้องรีบยื่นเรื่องทำซิติเซ่นทันที และเมื่อเขาได้ซิติเซ่นแล้ว เราจึงยื่นเรื่องไปที่อิมมิเกรชั่น “อัพเกรด”เคสคุณจากคู่สมรสของใบเขียวเป็นคู่สมรสซิติเซ่น คุณถึงจะมีสิทธิรับใบเขียวในอเมริกาได้ถึงแม้คุณจะอยู่เถื่อน และคุณจะได้ใบเขียวทันทีภายใน 4 เดือนไม่ต้องคอยโควตาอีกต่อไป

source : http://www.rujirat.com/

วีซ่าไปทำงาน

วีซ่าไปทำงาน
คนงานระดับล่างจะขอวีซ่าไปทำงานได้ยากและบางที่ไม่มีกรุ๊บวีซ่าให้ เนื่องจากระดับล่างคือระดับที่ได้รายได้ขั้นต่ำ ซึ่งนายจ้างควรจะสามารถหาคนงานท้องถิ่นทำได้ง่าย ถ้านายจ้างจะยอมจ่ายเงินเดือน ขอให้คุณนึกเปรียบเทียบวีซ่าระดับล่างนี้คล้ายนายจ้างไทย ที่ไม่อยากจ่ายค่าจ้างคนงานไทย เช่นคนใช้ ช่างก่อสร้าง เนื่องจากคนงานไทยหายากหรือเล่นตัว จึงไปจ้างแรงงานพม่าจ่ายถูกๆ รัฐบาลไม่ต้องการให้แรงงานเถื่อนเข้าประเทศ ในขณะที่คนไทยว่างงานมาก ถ้านายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นหน่อนก็จะสามารถหาคนงานได้ ในอเมริกาก็เช่นกัน เนื่องจากกฎหมายแรงงานนายจ้างต้องให้สวัสดิการลูกจ้างและจ่ายโอที ซึ่งนายจ้างไม่อยากจ่าย ก็หาทางจ้างแรงงานต่างชาติเถื่อนแทนโดยไม่ให้สวัสดิการและไม่มีโอที

วิธีขอวีซ่าทำงานระดับล่างได้ง่าย คืออาชีพที่ขาดแคลนและอาชีพเฉพาะอย่างที่คนงานอเมริกันทำไม่ได้ สำหรับคนไทยคือ อาชีพพ่อครัวหรือแม่ครัวร้านอาหารไทย อาชีพนี้ถือเป็นระดับล่างและหาฝรั่งทำไม่ได้ แต่มีเงื่อนไขคือพ่อครัวแม่ครัวต้องมีประสบการณ์เป็นกุ๊กอย่างน้อยสองปี อาชีพนี้สามารถขอใบเขียวทำงานได้เลยแทนที่จะขอวีซ่า

เริ่มต้นอย่างไร
ระดับโปรเฟลชันแนลกลาง
เริ่มต้นด้วยคุณต้องหางานก่อน อาจหาทางอินเตอร์เน็ท หรืออาจให้คนรู้จักในอเมริกาช่วยหางานให้งานนั้นต้องเป็นงานที่คุณเรียนจบมาหรือ/และมีประสบการณ์การทำงานโดยทั่วไปสองปี เมื่อตกลงกับนายจ้างได้เรียบร้อยแล้ว ให้นายจ้างติดต่อทนายในอเมริกาดำเนินเรื่องขอวีซ่าให้ ระเบียบการดำเนินเรื่องขอวีซ่าแต่ละประเภทต่างกันและซับซ้อนยากที่จะสาธยายในที่นี้ และมีเงื่อนไขว่าคุณต้องทำงานอยู่กับนายจ้างที่ทำเรื่องวีซ่าให้คุณ ถ้าคุณออกไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่ นายจ้างคนใหม่ต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าเปลี่ยนนายจ้างให้คุณใหม่ วีซ่าทำงานนี้คุณสามารถนำคู่สมรสและบุตรที่อายุต่ำกว่า 21 ปีที่ยังไม่แต่งงานพ่วงไปได้ และในอนาคตคุณสามารถทำเรื่องขอใบเขียวได้

ระดับล่าง
ขอยกตัวอย่างใบเขียวพ่อครัว แม่ครัวซึ่งเป็น คุณเริ่มต้นเช่นกัน คือ สมัครงานกับร้านอาหารไทยในอเมริกา โดยเฉพาะร้านที่อยู่รัฐที่หาคนงานได้ยากๆที่ไม่ค่อยมีคนไทยอยู่ อาจจะยอมจ้างคุณ ปัญหาคือนายจ้างกลัวว่าถ้าทำเรื่องใบเขียวให้คุณได้ คุณไปถึงแล้วจะอยู่ไม่ยืด เพราะเมื่อคุณได้ใบเขียวแล้ว คุณเป็นอิสระที่จะย้ายงานได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับนายจ้างที่ทำเรื่องให้คุณ (ละเมิดสิทธิรัฐธรรมนูญที่นายจ้างจะบังคับคนงานให้อยู่ด้วย) ฉะนั้นขึ้นอยู่กับคุณที่จะทำให้นายจ้างเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าคุณจะอยู่กับเขาไปนาน โดยทั่วไปคนที่ไปทำงานมักจะไปทำงานกับคนรู้จัก หรือคนจากจังหวัดเดียวกัน หรือมีคนแนะนำมา หรืออาจเป็นญาติพี่น้องได้ เงื่อนไขคือ คุณต้องมีประสบการณ์จริงๆ คือเป็นพ่อครัวหรือแม่ครัวร้านอาหารอย่างน้อยสองปี หรืออาจเป็นเจ้าของร้านอาหาร และทำครัวในร้านตัวเองอย่างน้อยสองปี ถ้าคุณได้ใบเขียว ทำงานคู่สมรสและบุตรที่อายุต่ำกว่า 21ปี ที่ยังไม่แต่งงานจะได้ใบเขียวพ่วงไปพร้อมกันได้ด้วย ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป อาจถึงสองหรือสามปีขึ้นอยู่กับโควต้า

ทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่านักเรียน
ตามกฎหมายวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่านักเรียนห้ามทำงาน มีข้อยกเว้นคือวีซ่าท่องเที่ยวอาจไปทำงานเช่นอาสาสมัครสอนหนังสือตามวัด หรือบางอย่างที่คุณไม่ได้รับเงินเดือน ส่วนวีซ่านักเรียนคุณอาจขอทำงานในโรงเรียนได้ หรือฝึกงานหนึ่งปีเมื่อเรียนจบ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้คุณขอสองวีซ่านี้เพื่อไปโดดทำงาน ถ้าคุณมีวีซ่าสองวีซ่านี้แล้ว คุณอาจเข้าไปหางานได้ เมื่อหานายจ้างที่จะรับคุณทำงานแล้ว คุณค่อยติดต่อทนายทำเรื่องและขยับขยายภายหลัง แต่ระหว่างคุณอยู่ในอเมริกาด้วยวีซ่านี้ คุณห้ามทำงาน

source : http://www.rujirat.com/